You are currently viewing การขยายผลข้าวลำไอออน ผ่าน “มช.-ราชบุรีโมเดล” สู่ จ.อุตรดิตถ์

การขยายผลข้าวลำไอออน ผ่าน “มช.-ราชบุรีโมเดล” สู่ จ.อุตรดิตถ์

1.บทนำ

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสภาเกษตรกรจังหวัดราชบุรีกับระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสภาเกษตรกรจังหวัดอุตรดิตถ์โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ นิเวศน์ นันทจิต  ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดราชบุรี คุณ สุทิน ชฎาดำ และ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดอุตรดิตถ์ คุณบัญชา อรุณเขต ในการขยายโครงการ “มช.-ราชบุรีโมเดล” ไปสู่จังหวัดอุตรดิตถ์

รูปที่ 1 การลงนามความร่วมมือเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562  ระหว่างระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสภาเกษตรกรจังหวัดราชบุรีและระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสภาเกษตรกรจังหวัดอุตรดิตถ์โดยมีคุณประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ, คุณองอาจ ปัญญาชาติรักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ถิรพัฒน์ วิลัยทอง ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์, ศาสตราจารย์ ดร. สัญชัย จตุรสิทธา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคุณมนตรี ฉัตรทอง หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดอุตรดิตถ์ ร่วมเป็นสักขีพยาน

 

โครงการ “มช.-ราชบุรีโมเดล” ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2558 โดยจุดมุ่งหมายประการสำคัญที่สุดก็คือการตอบโจทย์ปัญหาความยากจนและมีหนี้สินของชาวนาไทยที่เรื้อรังมานาน จากประสบการณ์ตรงทั้งชีวิตของสภาเกษตรกรจังหวัดราชบุรี ได้นำมาสังเคราะห์ร่วมกันจนในที่สุดเกิดเป็นกลยุทธ 4 ประการเพื่อบรรลุเป้าหมายหลักนั้น นั่นคือ

  1. ชาวนามีรายได้อย่างต่ำ 10,000 บาท / ไร่
  2. ชาวนามีหลายทางเลือกในการปลูกข้าวหลายชนิดเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ
  3. ข้าวทุกชนิดมีตลาดรองรับที่แน่นอน และ
  4. ใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อยกระดับสู่การทำการเกษตรสมัยใหม่ที่ยังสอดคล้องกับนโยบายการเกษตรยุค 4.0 ของรัฐบาลด้วย

ทั้งนี้มีนักวิชาการของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2 ท่าน คือ ดร. บุญรักษ์ พันธ์ไชยศรี และดร. จิรณัทฐ์ เตชะรัง ซึ่งเป็นผู้พัฒนาพันธุ์ข้าวโดยการสนับสนุนงบประมาณวิจัยและพัฒนาจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ (ศฟ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) คอยติดตามและควบคุมดูการเพาะปลูกข้าวลำไอออนและให้คำปรึกษาด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

รูปที่ 2 เทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวจากการชักนำให้กลายพันธุ์ด้วยลำไอออนเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย พัฒนาขึ้นเองโดยนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ใช้เวลานับทศวรรษจนประสบความสำเร็จ ทั้งนี้รวมถึงการสร้างเครื่องเร่งอนุภาคผลิตลำไอออนเองด้วย ซึ่งถ้าซื้อจากต่างประเทศมีมูลค่าหลายล้านบาท ปัจจุบันเครื่องเร่งอนุภาคนี้ติดตั้งอยู่ที่อาคารเทคโนโลยีไอออนบีม ศูนย์วิจัยฟิสิกส์ของพลาสมาและลำอนุภาค ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562 คุณเมธัสสิทธิ์ ลัคนทินวงศ์ หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดราชบุรี และคุณไชยวิทย์ บัวงาม ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรห้วยไผ่เพื่อการผลิต จ. ราชบุรี และเป็นสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดราชบุรีด้วย ได้ส่งมอบเมล็ดพันธุ์ ข้าวเจ้า ศฟ 10-5 (MSY-4) จำนวน 25 กิโลกรัม และข้าวเจ้า ศฟ 10-7 (OSSY-23) จำนวน 825 กิโลกรัม แก่ คุณบัญชา อรุณเขต ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดอุตรดิตถ์ และคุณมนตรี ฉัตรทอง หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อนำไปปลูกทดสอบการปรับตัวในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์

2.การปลูกทดสอบการปรับตัวที่ จ. อุตรดิตถ์

คุณบัญชา อรุณเขต ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดอุตรดิตถ์ และคุณมนตรี ฉัตรทอง หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้นำเมล็ดพันธุ์ข้าวชุดแรกดังกล่าว มาเพาะปลูกทดสอบการปรับตัว ในฤดูนาปรัง 2563 ช่วงวันที่ 28 ธันวาคม 2562-30 เมษายน 2563 โดยมีรายละเอียดดังนี้

ข้าวเจ้า ศฟ 10-5 (MSY-4):

  • ในที่นาเกษตรกร อ.ลับแล ทดลองปลูกแบบนาดำ จำนวน 2 ไร่

ข้าวเจ้า ศฟ 10-7 (OSSY-23):

  • ในที่นาเกษตรกร อ.ลับแล ทดลองปลูกแบบนาดำ จำนวน 25 ไร่
  • ในที่นาเกษตรกร อ.ลับแล ทดลองปลูกแบบนาหว่าน จำนวน 12 ไร่
  • ในที่นาเกษตรกร อ.พิชัย ทดลองปลูกแบบนาหยอด จำนวน 12 ไร่
  • ในที่นาเกษตรกร อ. ตรอน ทดลองปลูกแบบนาหว่าน จำนวน 5 ไร่
  • ในที่นาเกษตรกร อ.เมือง ทดลองปลูกแบบนาหว่าน จำนวน 5 ไร่

(ก)

 

(ข)

 

(ค)

รูปที่ 3 (ก) และ (ข) ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2563 และ (ค) เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2563 ที่แปลงนาของคุณประเสริฐ อรุณเขต ซึ่งเป็นการปลูกข้าวเจ้า ศฟ 10-7 (OSSY-23) แบบนาดำ ระยะปลูก 25×16 เซนติเมตร ซึ่งข้าวอยู่ในระยะให้ผลผลิต (ออกรวงและเมล็ดแก่) เกษตรกรผู้ปลูกมีความพึงพอใจต่อการเพาะปลูกข้าวพันธุ์นี้ เพราะมีการแตกกอดี มีจำนวนรวงต่อกอมาก น้ำหนักเมล็ดดี และไม่พบการระบาดของโรคและแมลงศัตรูข้าว

 

3.ผลผลิตข้าว ศฟ 10-7 (OSSY-23) ที่ จ. อุตรดิตถ์

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2563 แปลงนาของคุณประเสริฐ อรุณเขตได้ทำการเก็บเกี่ยว และมีการทดลองวัดปริมาณผลผลิตด้วย (รูปที่ 4)

รูปที่ 4 การเก็บเกี่ยวข้าวศฟ 10-7 (OSSY-23) เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2563 ที่แปลงนาของคุณประเสริฐ อรุณเขต และการทดลองวัดปริมาณผลผลิต

ซึ่งปรากฏว่าข้าวเจ้า ศฟ 10-7 (OSSY-23) ให้ผลิตผลที่ 1,698 กิโลกรัม / ไร่ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าข้าวพันธุ์ใหม่นี้ สามารถปรับตัวได้ดีต่อพื้นที่ปลูกจังหวัดอุตรดิตถ์ ให้ผลผลิตที่เกษตรกรผู้ปลูกทดสอบพึงพอใจสามารถตอบโจทย์ความต้องการในการเพิ่มปริมาณของผลผลิตข้าวและรายได้ของพี่น้องชาวนาในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างได้เป็นอย่างดี

แชร์เลย :