You are currently viewing การเสวนาเปิดตัวโครงการปั้นดาว การส่งเสริมข้าวลำไอออนเพื่ออุตสาหกรรมแป้งข้าวเจ้า

การเสวนาเปิดตัวโครงการปั้นดาว การส่งเสริมข้าวลำไอออนเพื่ออุตสาหกรรมแป้งข้าวเจ้า

เมื่อวันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม 2564 รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงมณี ว่องรัตนะไพศาล รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์, ดร.ดุษฎี สุวรรณขจรและคณะ ร่วมงานเปิดตัวโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลงานวิจัย เพื่อต่อยอดสู่ภาคประชาสังคม (ปั้นดาว) ระยะที่ 2 เรื่อง การส่งเสริมข้าวลำไอออนเพื่ออุตสาหกรรมแป้งข้าวเจ้า ซึ่งมี ดร.จิรณัทฐ์ เตชะรัง สังกัดสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย โดยเป็นการจัดงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสภาเกษตรกรจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเปิดงาน ณ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดอุตรดิตถ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์

โดยภายในงานดังกล่าวมีกิจกรรมเกี่ยวกับการเสวนา ในหัวข้อ โครงการปั้นดาว การส่งเสริมข้าวลำไอออนเพื่ออุตสาหกรรมแป้งข้าวเจ้า และการร่วมหารือการส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตข้าวเจ้าเพื่ออุตสาหกรรมแป้งข้าวเจ้า” โดยเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินงาน “โครงการปั้นดาว” ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้เข้าร่วมงานที่จะนำความรู้ดักล่าวไปใช้ปรับประยุกต์ใช้ได้จริงในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้ “โครงการ ปั้นดาว” เป็นต้นแบบที่ช่วยพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมแป้งข้าวเจ้าของประเทศ และสามารถขยายกำลังการผลิตแป้งข้าวเจ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชาวนาไทยทั่วประเทศ ในอนาคตต่อไป รวมทั้งภายหลังงานดังกล่าวทางคณะศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ได้เดินทางไปเยี่ยมชมแปลงเพาะปลูกข้าวลำไออนเพื่ออุตสาหกรรมแป้งข้าวเจ้า ณ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์

โครงการวิจัยการส่งเสริมข้าวลำไอออนเพื่ออุตสาหกรรมแป้งข้าวเจ้า เป็นโครงการวิจัยที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ภายใต้โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลงานวิจัย เพื่อต่อยอดสู่งานภาคประชาสังคม (ปั้นดาว) ของกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีรายละเอียดโครงการวิจัยพอสังเขป ดังนี้

โครงการวิจัยการส่งเสริมข้าวลำไอออนเพื่ออุตสาหกรรมแป้งข้าวเจ้า มีวัตถุประสงค์เพื่อนำข้าวเจ้า ศฟ 10-5 ซึ่งได้รับการออกหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียน ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518 จากกรมวิชาการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาส่งเสริมการเพาะปลูกในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ ข้าวพันธุ์นี้ถูกปรับปรุงพันธุ์โดยเทคโนโลยีลำไอออนพลังงานต่ำ เป็นพันธุ์ข้าวให้ผลผลิตสูงประมาณ 1 ตันต่อไร่ ต้านทานโรคและแมลงศัตรูข้าวได้ดี เมื่อมีอายุการเก็บรักษานาน 4 เดือน สามารถนำมาแปรรูปเป็นแป้งข้าวเจ้าและผลิตภัณฑ์เส้น เช่น เส้นขนมจีน เป็นต้น ได้ดีกว่าพันธุ์ข้าวพื้นแข็งที่นิยมใช้ในปัจจุบัน เช่น ชัยนาท 1 สุพรรณบุรี 1 เป็นต้น ถึงแม้พันธุ์ข้าวพื้นแข็งเหล่านี้ปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่ให้ผลผลิตปานกลาง ไม่ต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูข้าว ต้องทิ้งข้าวให้เก่ามากกว่า 7-8 เดือน ซึ่งเพิ่มต้นทุนการเก็บรักษาแก่โรงสี และลดโอกาสการแปรรูปของโรงงานอุตสาหกรรม

 

โครงการวิจัยนี้ ทำการผลิตเมล็ดพันธุ์หลัก จากนั้นนำเมล็ดพันธุ์หลักที่ได้มาผลิตเพื่อเพิ่มจำนวนเมล็ดพันธุ์จำหน่ายเพื่อขายแก่ชาวนา ในราคาถูกกว่าท้องตลาดกิโลกรัมละ 1 บาท ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้เชื้อพันธุกรรมข้าวพันธุ์นี้ ระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และวิสาหกิจชุมชนเกษตรห้วยไผ่เพื่อการผลิต ให้เพียงพอต่อพื้นที่ปลูกไม่น้อยกว่า 6,000-8,000 ไร่ เมื่อไม่ประสบปัญหาน้ำ จากนโยบายภาครัฐ และภัยแล้ง ซึ่งอยู่ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาเกษตรกรรม พัฒนาเกษตรกร และบุคลากร ระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสภาเกษตรกร 8 จังหวัด ทำการส่งเสริมการเพาะปลูก จัดการการเพาะปลูก หาช่องทางการจัดจำหน่าย และบริหารจัดการด้านการตลาดแบบครบวงจร โดยใช้โมเดลข้าว มช-ราชบุรี ภายใต้การดูแลของวิสาหกิจฯ ร่วมกับสภาเกษตรกรจังหวัดต่างๆ นอกจากนี้ ทำการพัฒนาเครื่องอบเมล็ดพันธุ์ข้าวและเครื่องคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อลดต้นทุนเมล็ดพันธุ์ข้าว และสร้างเครื่องหมายโมเลกุลจำเพาะและสร้างวิธีมาตรฐานในการใช้เครื่องหมายโมเลกุลจำเพาะ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบและติดตามการใช้ข้าวในตัวอย่างข้าวต้องสงสัยหรือตัวอย่างข้าวผสมได้

เมื่อสิ้นสุดโครงการฯ ผลผลิตที่เกิดขึ้น ได้แก่ เมล็ดพันธุ์หลัก จำนวน 2 ตัน และเมล็ดพันธุ์จำหน่าย จำนวน 150 ตัน ซึ่งเพียงพอต่อพื้นที่ปลูก เอกสารความร่วมมือในการส่งเสริมการปลูกข้าวลำไอออนข้าวเจ้า ศฟ 10-5 ไม่น้อยกว่า 1 ฉบับ เอกสารความร่วมมือในการซื้อ-ขายเมล็ดพันธุ์ข้าวและผลผลิตข้าวที่เข้าสู่ระบบโรงสีและอุตสาหกรรมข้าว ไม่น้อยกว่า 1 ฉบับ เครื่องอบเมล็ดพันธุ์ข้าวและเครื่องคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว และเครื่องหมายโมเลกุลจำเพาะและวิธีการใช้งาน ดังนั้นวิสาหกิจฯ และสภาเกษตรกร จึงสามารถดำเนินการส่งเสริมข้าวพันธุ์นี้ต่อไปได้เมื่อสิ้นสุดโครงการฯ  และโครงการนี้สามารถลดต้นทุนและเพิ่มรายได้แก่ชาวนา สร้างช่องทางการจัดจำหน่ายให้กับชาวนาให้มีรายได้ที่แน่นอน สร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย หน่วยงานรัฐ และเอกชน สร้างความเข้มแข็งและอำนาจการต่อรองแก่ชาวนา ยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร และลดการใช้สารเคมีเพื่อควบคุมและกำจัดโรคและแมลงศัตรูข้าวชาวนาจึงมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว และช่วยรักษาหรือลดการทำลายสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพในแปลงนา

จากปี 2561 คณะวิจัยได้พัฒนาเทคโนโลยีลำไอออนพลังงานต่ำสำหรับการปรับปรุงพันธุ์ข้าว ทั้งพัฒนาเครื่องมือและวิธีการใช้งานเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย มีต้นทุนต่ำ สามารถลดระยะเวลา ลดแรงงาน และลดต้นทุนในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว ได้พันธุ์ข้าวที่มีลักษณะทางการเกษตรที่ดี และเมล็ดดีเด่นในต้นเดียวกัน รวมถึงบูรณาการความร่วมมือในหลายภาคส่วน ทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยามหาวิทยาลัยมหิดล สภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาเกษตรกร 16 จังหวัดในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง และวิสาหกิจชุมชนห้วยไผ่เพื่อการเกษตร บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่ข้าวลำไออนพลังงานต่ำ ควรได้รับการยกระดับในการส่งเสริมให้เกษตรสามารถนำเมล็ดพันธุ์ไปใช้เพาะปลูกได้จริง และวิสาหกิจชุมชนฯสามารถผลิตเพื่อเพิ่มจำนวนเมล็ดพันธุ์ผ่านกระบวนการอบและคัดเมล็ดพันธุ์ได้เอง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมต้นน้ำ ทั้งในแง่ของเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสภาเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมแป้ง สตาร์ซข้าวเจ้า และผลิตภัณฑ์เส้นจากแป้งข้าวเจ้าได้อย่างยั่งยืน

แชร์เลย :