You are currently viewing การแถลงข่าวเรื่อง “ข้าวสายพันธุ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมข้าวไทย 4.0”

การแถลงข่าวเรื่อง “ข้าวสายพันธุ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมข้าวไทย 4.0”

เมื่อวันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ณ ห้องฝ้ายคำ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสภาเกษตรกรจังหวัดราชบุรี  ได้ร่วมกันจัดพิธีแถลงข่าวเรื่อง “ข้าวสายพันธุ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมข้าวไทย 4.0” และการลงนามความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับสภาเกษตรกรจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อเป็นการส่งต่อความสำเร็จตามที่สภาเกษตรกรจังหวัดราชบุรีได้ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง

ประเทศไทยส่งออกข้าวเป็นอันดับต้นๆของโลกมาตลอด ในปีพ.ศ. 2561 รั้งตำแหน่งที่ 2 รองจากประเทศอินเดีย แต่ที่ผ่านมาชาวนาไทยกลับถูกปล่อยให้ตกอยู่ในสภาพ “ปลูกข้าวนาปีมีแต่หนี้กับซัง ปลูกข้าวนาปรังมีแต่ซังกับหนี้” สาเหตุสำคัญประการหนึ่งของความยากจนซ้ำซากของชาวนาไทยก็คือผลผลิตข้าวต่ำเกินไปจนไม่คุ้มต้นทุนค่าใช้จ่ายประมาณ 5,000 บาท / ไร่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมมือกับสภาเกษตรกรจังหวัดราชบุรีพัฒนา “มช.-ราชบุรีโมเดล” มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 เพื่อมุ่งลดความยากจนของชาวนาไทยด้วยกลยุทธ 4 ประการกล่าวคือ 1) ชาวนามีรายได้อย่างต่ำ 10,000 บาท / ไร่, 2) ชาวนามีหลายทางเลือกในการปลูกข้าวหลายชนิด, 3) ข้าวทุกชนิดมีตลาดรองรับที่แน่นอน และ 4) ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่สอดคล้องกับนโยบายการเกษตรยุค 4.0 ของรัฐบาล

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ส่งมอบข้าว 3 สายพันธุ์ใหม่ที่มีทั้งผลผลิตและคุณภาพสูงที่เกิดจากเทคโนโลยีใหม่ของโลกที่พัฒนาขึ้นเองคือ “เทคโนโลยีชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ในข้าวด้วยลำไอออนพลังงานต่ำ”  ให้แก่สภาเกษตรกรจังหวัดราชบุรีคือ 1) ข้าวหอมเพื่อการบริโภค (มช 10-1),  2) ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมแป้ง (เทพ 10-5) และ 3) ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ (เทพ 10-7) ซึ่งให้ผลตอบสนองต่อพื้นที่และภูมิอากาศที่จ. ราชบุรีดีมาก ตลอดปีนี้ (2562) สภาเกษตรกรจังหวัดราชบุรีและวิสาหกิจชุมชนเกษตรห้วยไผ่เพื่อการผลิต จ. ราชบุรี โดยการให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดของดร. บุญรักษ์ พันธ์ไชยศรี และดร. จิรณัทฐ์ เตชะรัง นักวิจัยของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนการวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557 สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวได้รวมประมาณ 50 ตัน (ข้าวมช 10-1 ให้ผลผลิต 2.1 ตัน/ไร่, ข้าวเทพ 10-5 ให้ผลผลิต 1.5 ตัน/ไร่, ข้าวเทพ 10-7 ให้ผลผลิต 1.5 ตัน/ไร่ )เพื่อใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ที่จะส่งมอบให้กับชาวนาที่เป็นสมาชิกของโครงการไม่น้อยกว่า 1,000 ราย เพื่อเพาะปลูกในฤดูนาปรังและฤดูนาปี 2563 ในพื้นที่ประมาณ 5,000 ไร่ (จ.ราชบุรีมีเกษตรกรปลูกข้าวจำนวน 23,169 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 268,852 ไร่) ซึ่งเป็นความสำเร็จประเดิมของการขับเคลื่อนอนาคตชุมชนไทยโดยคนในชุมชนท้องถิ่นผสานพลังกับนักวิจัยในมหาวิทยาลัยนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์

ด้วยความสำเร็จดังกล่าวข้างต้น สภาเกษตรกรจังหวัดอุตรดิตถ์ จึงได้ขอสมัครเข้าร่วมโครงการและได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างเป็นทางการในวันเดียวกันนี้ด้วย โดยตัวแทนจากทั้งสองฝ่ายคือศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ คุณบัญชา อรุณเขต  ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมีคุณประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ, คุณองอาจ ปัญญาชาติรักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ถิรพัฒน์ วิลัยทอง ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์, ศาสตราจารย์ ดร. สัญชัย จตุรสิทธา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคุณสุทิน ชฎาดำ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดราชบุรี ร่วมให้เกียรติเป็นสักขีพยาน

นอกจากนี้ในช่วงเวลา 10.30 – 12.00 น. ได้จัดให้มีการสัมมนาพิเศษเรื่อง “การส่งเสริมข้าวลำไอออนสู่เกษตรกรข้าวไทยยุค 4.0” เพื่อเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่และข้าวสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าวแก่ประธานสภาเกษตรกรจากจังหวัดต่างๆ, เกษตรกร, นักข่าวและผู้ที่สนใจ โดยวิทยากรและผู้ดำเนินรายการที่เป็นผู้ลงมือปลุกปั้นโครงการนี้มาตั้งแต่เริ่มคือดร. บุญรักษ์ พันธ์ไชยศรี, คุณเมธัสสิทธิ์ ลัคนทินวงศ์ หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดราชบุรี และคุณไชยวิทย์ บัวงาม ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรห้วยไผ่เพื่อการผลิต จ. ราชบุรี

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสภาเกษตรกรจังหวัดราชบุรี พร้อมด้วยวิสาหกิจชุมชนเกษตรห้วยไผ่เพื่อการผลิต จ.ราชบุรี ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความสามารถในการปรับตัวของชาวนาไทย ได้ใช้เทคโนโลยีลำไอออนพัฒนาข้าวอีกหลายสายพันธุ์ใหม่ ที่น่าสนใจและเหมาะกับการปลูกในภาคเหนือตอนบนมากขณะนี้คือ ข้าวญี่ปุ่นก่ำ (AKM-P-22) สำหรับการบริโภคเพื่อสุขภาพ เป็นข้าวกล้องสีก่ำทั้งเมล็ด กาบใบสีม่วง ผลผลิต 600-800 กก./ไร่ คุณภาพหุงต้มรับประทานดี มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ดีต่อคนรักสุขภาพ มีตลาดอาหารญี่ปุ่นรับซื้อแน่นอน และข้าวญี่ปุ่น (AKM-6-1) สำหรับการบริโภคทั่วไป ผลผลิต 900 – 1,180 กก./ไร่ มีปริมาณอมิโลส 20.6 % คุณภาพหุงต้มรับประทานดี ใกล้เคียงกับข้าวญี่ปุ่นพันธุ์ดั้งเดิม กวก.2 ที่ให้ผลผลิตต่ำเพียง 304 – 584 กก./ไร่ เมื่อแน่ใจว่าข้าวญี่ปุ่นสายพันธุ์ใหม่ทั้งสองเสถียรตามมาตรฐานแล้วจะได้นำไปส่งเสริมแก่ชาวนา เพื่อเป็นตัวเลือกทางธุรกิจของชาวนามากขึ้นต่อไปในอนาคต ซึ่งได้นำมาโชว์ตัวในคราวนี้ด้วย

แชร์เลย :