You are currently viewing งาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564

งาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021)

เมื่อวันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2564 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดีสิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2564 (Thailand Research Expo 2021)” โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วยศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงอว. ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตรมิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เฝ้าฯรับเสด็จ ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ และเสด็จฯ ไปยังห้องประชุม World Ballroom ชั้น 23 โดยรมว.อว. กราบบังคมทูลรายงานการจัดงาน จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสเปิดงาน และทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานวิจัย และนวัตกรรม รวมถึงนิทรรศการของเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network : RUN) ซึ่งศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ได้ร่วมจัดนิทรรศการแสดงผลงาน “เทคโนโลยีไอออนพลังงานต่ำสำหรับการปรับปรุงพันธุ์ข้าว” โดยการร่วมจัดนิทรรศการแสดงผลงานดังกล่าวนั้นศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ ได้รับเลือกจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้แสดงผลงานวิจัยนวัตกรรมการปรับปรุงพันธ์ข้าวด้วยลำไอออนพลังงานต่ำ ไปจัดแสดง เป็นผลงานเด่นของเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network : RUN) โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงมณี ว่องรัตนะไพศาล รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ และดร.จิรณัทฐ์ เตชะรัง นักวิจัยโครงการ เฝ้าฯรับเสด็จ

สำหรับการจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2564 (Thailand Research Expo 2021)” ได้จัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีและปีนี้ได้จัดเป็นปีที่ 16 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-26 พฤศจิกายน 2564 ภายใต้แนวคิด “พลังงานวิจัย สู่ยุคใหม่แห่งอนาคต” เพื่อแสดงถึงพลังของงานวิจัยที่เป็นกลไกเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์ข้อมูลและการวางแผนปฏิบัติทำให้เกิดการบูรณาการองค์ความรู้และเทคโนโลยี โดยปีนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้มีการบริหารจัดการตามแนวปฏิบัติที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งเป็นไปตามมาตรการความปลอดภัยสำหรับองค์กร หรือ Covid Free Setting โดยได้รับการร่วมมืออย่างดียิ่งจากหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยและนวัตกรรมทั่วประเทศในการร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน

“เทคโนโลยีไอออนพลังงานต่ำสำหรับการปรับปรุงพันธุ์ข้าว” ซึ่งไม่ใช่ GMO การชักนำให้พืชกลายพันธุ์อย่างมีประสิทธิภาพด้วยลำไอออน มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และเป็นแห่งที่สองในโลกต่อจากประเทศจีน การพัฒนาปรับปรุงข้าวคุณภาพสายพันธุ์ใหม่หลากหลายชนิดใช้เวลาสั้นกว่าวิธีการแบบดั้งเดิมมาก ส่งผลต่อการปรับปรุงพันธ์ข้าวคุณภาพและผลผลิตสูง ทำให้เกษตรกรได้เมล็ดพันธ์ที่ดี ตลอดจนเป็นรากฐานที่สำคัญสู่การเป็นผู้นำการส่งออกข้าวของโลกอีกครั้งหนึ่ง ในปัจจุบันเทคโนโลยีดังที่กล่าวสามารถปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อให้การสนับสนุนเกษตรได้ถึง 10 กลุ่ม ได้แก่ ข้าวเจ้าหอม ข้าวเจ้าเพื่ออุตสาหกรรมแป้ง ข้าวเหนียวหอม ข้าวเจ้าสีสำหรับการบริโภคข้าวกล้องเพื่อสุขภาพและเวชสำอาง ข้าวไขมันสูง ข้าวดัชนีน้ำตาลต่ำ ข้าวเบต้าแคโรทีนสูง ข้าวเหนียวที่มีแนวโน้มให้ผลผลิตสูง ข้าวเจ้าพื้นแข็งที่มีแนวโน้มให้ผลผลิตสูง และข้าวญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มให้ผลผลิตสูง

แชร์เลย :