You are currently viewing พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสภาเกษตรจังหวัด 15 จังหวัด

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสภาเกษตรจังหวัด 15 จังหวัด

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานการวิจัยทางด้านข้าวเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมและบุคลากร ระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับสภาเกษตรจังหวัด 15 จังหวัด

เมื่อวันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2563 ณ ห้องทองกวาว สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกันจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานการวิจัยทางด้านข้าวเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม พัฒนาเกษตรกรและบุคลากร ระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับ สภาเกษตรกร 15 จังหวัด

สืบเนื่องจากการที่นักวิทยาศาสตร์คณะหนึ่งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ทุ่มเทเวลากว่า 10 ปี ค้นคว้าวิจัยวิธีการแบบใหม่ ที่ไม่ใช่ GMO ในการชักนำให้พืชกลายพันธุ์อย่างมีประสิทธิภาพด้วยลำไอออนที่ผลิตจากเครื่องเร่งอนุภาคที่พัฒนาขึ้นเองแบบครบวงจรแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศ และต่อมาได้พัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมการเกษตรที่เรียกว่า “เทคโนโลยีชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ในข้าวด้วยลำไอออนพลังงานต่ำ” ที่สามารถใช้พัฒนาปรับปรุงข้าวคุณภาพสายพันธุ์ใหม่หลากหลายชนิดได้ในเวลาที่สั้นกว่าวิธีการแบบดั้งเดิมมาก โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณวิจัยและพัฒนาจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นเวลาหลายปี ให้แก่นักวิจัยของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ข้าวคุณภาพสายพันธุ์ใหม่บางส่วนที่เรียกสั้นๆว่า “ข้าวลำไอออน” ได้เริ่มถูกนำไปทดลองปลูกที่ จ. ราชบุรี ภายใต้โครงการ “มช.-ราชบุรีโมเดล” จากความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับสภาเกษตรกรจังหวัดราชบุรี ข้าวลำไอออนให้ผลผลิตในพื้นที่ภาคตะวันตกเกินกว่า 1,000 กิโลกรัม / ไร่ ต่อมาเมื่อขยายไปทดลองปลูกที่จ. อุตรดิตถ์โดยการดำเนินการของสภาเกษตรกรจังหวัดอุตรดิตถ์ ผลผลิตข้าวลำไอออนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างก็มากเกินกว่า 1,000 กิโลกรัม / ไร่ เช่นกัน

จากข้อเท็จจริงอันเป็นที่ทราบกันดีเรื่องผลผลิตที่ต่ำมากของข้าวไทย คือที่ค่าเฉลี่ย 460 กิโลกรัม / ไร่ * ซึ่งเป็นปัญหาที่กัดกร่อนความเจริญของอาชีพชาวนาตลอดเวลาที่ผ่านมา ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน เมื่อข้าวลำไอออนให้ผลผลิตสูงกว่า 1,000 กิโลกรัม / ไร่ ตอบโจทย์ของชาวนาอย่างตรงเป้า ข้าวลำไอออนจึงได้รับความสนใจจากสภาเกษตรกรหลายจังหวัด และเป็นที่มาของพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยชียงใหม่กับสภาเกษตรกร 15 จังหวัดในวันนี้ เพื่อการนำข้าวลำไอออน 3 สายพันธุ์ใหม่คือข้าวเจ้าหอมพื้นอ่อน มช 10-1, ข้าวเจ้าหอมอ่อนพื้นแข็ง ศฟ 10-5 และข้าวเจ้าพื้นแข็ง ศฟ 10-7 ไปขยายผลที่จังหวัด กาญจนบุรี, กำแพงเพชร, ขัยนาท, ปทุมธานี, ปราจีนบุรี, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, แพร่, ลพบุรี, สระบุรี, สิงห์บุรี, สุโขทัย, อยุธยา, อ่างทอง และอุตรดิตถ์ ทั้งนี้ข้าว 3 สายพันธุ์ใหม่นี้ได้รับการออกหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียน ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 จากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว

งานในวันนี้มี 2 เนื้อหาที่สัมพันธ์กัน กล่าวคือ ช่วงเช้าเป็นการเสวนาเรื่อง “การส่งเสริมข้าวลำไอออนสู่เกษตรกรข้าวไทยยุค 4.0 ด้วย มช.-ราชบุรีโมเดล” โดยวิทยากร 4 ท่านคือ ดร. บุญรักษ์ พันธ์ไชยศรี นักวิจัยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ดร.จิรณัทฐ์ เตชะรัง นักวิจัยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คุณเมธัสสิทธิ์ ลัคนทินวงศ์ หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดราชบุรี และคุณไชยวิทย์ บัวงาม ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรห้วยไผ่เพื่อการผลิต จ. ราชบุรี เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ มช.-ราชบุรี โมเดล โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการเสวนา  ส่วนในภาคบ่ายเป็นช่วงเวลาของพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับประธานสภาเกษตรกรของทั้ง 15 จังหวัด ดังกล่าวแล้วข้างต้น ทั้งนี้มีจำนวนผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้น 183 คน

แชร์เลย :