You are currently viewing รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมการข้าวพร้อมคณะ ร่วมรับฟังการบรรยายผลงานวิจัยโดยใช้เทคโนโลยีไอออนพลังต่ำสำหรับปรับปรุงพันธุ์ข้าว

รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมการข้าวพร้อมคณะ ร่วมรับฟังการบรรยายผลงานวิจัยโดยใช้เทคโนโลยีไอออนพลังต่ำสำหรับปรับปรุงพันธุ์ข้าว

เมื่อวันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ คุณอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร อธิบดีกรมการข้าวพร้อมคณะ รับฟังบรรยายผลงานวิจัยโดยใช้เทคโนโลยีไอออนพลังต่ำสำหรับปรับปรุงพันธุ์ข้าว เพื่อให้ได้ข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่มีคุณภาพดีและผลผลิตสูง ของทีมนักวิจัยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี ศาสตราจารย์คลินิก นพ. นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร.อาวรณ์ โอภาสพัฒนกิจ รองอธิการบดี รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยะพงศ์ เนียมทรัพย์ ผู้ช่วยอธิการบดี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ถิรพัฒน์ วิลัยทอง ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ ศาสตราจารย์ ดร.สัญชัย จตุรสิทธา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.บุญรักษ์ พันธ์ไชยศรี และ ดร.จิรณัทฐ์ เตชะรัง นักวิจัย ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมบัวเรศ คำทอง อาคารสำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โอกาสนี้ได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการลำไอออนพลังงานต่ำ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อให้ได้ข้าวคุณภาพดี และเพื่อพัฒนาข้าวอีกหลายสายพันธุ์ใหม่ที่น่าสนใจ

นายประภัตร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งศึกษาวิจัยพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพ และผลผลิตสูง เพื่อให้เกษตรกรได้มีเมล็ดพันธุ์ดีได้ใช้ปลูก ตลอดจนทวงแชมป์ผู้ส่งออกข้าวและการประกวดข้าวหอมโลกให้ได้ ดังนั้นจึงเร่งให้มีการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์และการผลิตข้าว โดยวันนี้ได้หารือแนวทางแก้ไขปัญหา และบูรณาการทำงานร่วมกันในการวิจัยระหว่างกรมการข้าว และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยนำนวัตกรรม เทคโนโลยีที่มีอยู่มาร่วมกันศึกษา พัฒนาพันธุ์ข้าวให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกษตรกรชาวนาได้มีรายได้มั่นคง ยั่งยืน ต่อไป

“การร่วมมือกันในวันนี้ ถือเป็นความสำเร็จก้าวแรกในการช่วยเหลือพี่น้องชาวนาไทยที่กำลังได้รับความเดือดร้อน และขอชื่นชมทีมนักวิจัยที่สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูงกว่า ตรงตามความต้องการของตลาด ดังนั้น จึงต้องผลักดันความร่วมมือโดยนำเอางานวิจัยที่สำเร็จแล้วไปสู่ชาวนา และตั้งคณะทำงานร่วมกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายพร้อมสนับสนุนความร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาและเร่งผลิตพันธุ์ข้าวดีช่วยเหลือชาวนากว่า 5 ล้านครัวเรือน พื้นที่ 60 ล้านไร่ทั่วประเทศ และเร่งวิจัยพันธุ์ให้มีคุณสมบัติครบถ้วนคว้าแชมป์ข้าวโลก สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย” นายประภัตร กล่าว

สำหรับ ข้าวสายพันธุ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมข้าวไทย 4.0 เป็นเทคโนโลยีชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ในข้าวด้วยลำไลออนพลังงานต่ำ โดยทีมนักวิจัยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.บุญรักษ์ พันธ์ไชยศรี ดร.จิรณัทฐ์ เตชะรัง และศ.เกียรติคุณ ดร.ถิรพัฒน์ วิลัยทอง ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่พัฒนานวัตกรรมเครื่องเร่งอนุภาค ข้าวลำไอออน 3 สายพันธุ์ใหม่แบบครบวงจรแห่งแรกในประเทศ และเป็นเทคโนโลยีใหม่ของโลกที่ใช้เวลาในการคิดค้นและพัฒนากว่า 10 ปี

เทคโนโลยีดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว เพื่อให้ได้ข้าวสายพันธุ์ใหม่ 3 สายพันธุ์ คือ 1.ข้าวหอมเพื่อการบริโภค (มช 10-1 หรือ FRK-1) มีความหอมมากกว่าข้าวขาวดอกมะลิ 105 2.ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมแป้ง (ศฟ 10-5 หรือ MSY-4): เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมแป้งและการแปรรูปเป็นเส้นขนมจีน และ 3.ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ (ศฟ 10-7 หรือ OSSY-23): เหมาะที่จะนำไปเป็นอาหารสัตว์ เช่นหมูและไก่ หรือทำเป็นข้าวพาร์บอยล์ (parboiled rice) ซึ่งข้าว 3 สายพันธุ์ดังกล่าว สามารถตอบโจทย์ของชาวนาไทยในยุค 4.0 เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในการแก้ปัญหาผลผลิตข้าวตกต่ำ.

แชร์เลย :