เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ทรงเปิดงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ด้วยพลังสหวิทยาการ หรือ“อว.แฟร์” จัดโดย กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัตมน์ ปลัดกระทรวง อว. คณะผู้บริหารกระทรวง อว. รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงมณี ว่องรัตนะไพศาล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรามาศ โกมลจินดา รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ เฝ้าฯ รับเสด็จ พร้อมมี นางสาวเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. และผู้แทนศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ทูลเกล้าฯ ถวายพวงมาลัย ณ ฮอลล์ 3 ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงวางพระหัตถ์บนแท่นอะคริลิกเปิดงานฯ จากนั้นเสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการ 6 โซนหลัก ได้แก่1) โซน SCIENCE FOR ALL WELL-BEING ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามจากนวัตกรรมของคนไทย 2) โซน SCIENCE FOR FUTURE THAILAND นำเสนอขบวนรถไฟแห่งอนาคต ฉายภาพให้เห็นประเทศไทยในอนาคตอีก10 ปีข้างหน้า 3) โซน INSPIRED BY SCIENCE ที่จะจุดประกายความคิด สร้างจินตนาการและแรงบันดาลใจให้ทุกคน 4) โซน SCIENCE FOR LIFELONG LEARNING เปิดโลกแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมแนะแนวอาชีพแห่งอนาคต 5) โซนSCIENCE FOR EXPONENTIAL GROWTH แสดงศักยภาพของงานวิจัยและนวัตกรรมของคนไทย และ 6) โซน STARTUP LAUNCHPAD ซึ่งแสดงถึงศักยภาพในการผลักดัน Startup ไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง
สำหรับงาน “อว.แฟร์” เป็นงานมหกรรมที่รวมสหวิทยาการทั้งด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม การศึกษาที่มีคุณภาพ ด้าน Soft Power ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัยมากกว่า 170 หน่วยงาน ครอบคลุมทั่วประเทศ ผู้เข้าชมงานจะได้พบกับกิจกรรมและสาระความรู้ดี ๆ ผ่านนิทรรศการ 6 โซนที่แสดงนวัตกรรมเทคโนโลยีของไทยและนานาชาติ จัดแสดงระหว่างวันที่ 22-28 กรกฏาคม พ.ศ.2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ในงานดังกล่าวศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ ได้จัดนิทรรศการแสดงผลงาน ได้แก่
1. เทคโนโลยีพลาสมา เพื่อดูแลผู้ป่วยแผลเรื้อรัง : Compact Air Plasma Jet ภายใต้มาตรฐานการผลิตเครื่องมือแพทย์ ISO 13485
ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โครงการ “ปั้นดาว” ในดำเนินการผลิตเครื่อง Compact Air Plasma Jet ที่ได้รับการสนับสนุนในการพัฒนาระยะแรกจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ ผ่านศูนย์วิจัยฟิสิกส์ของพลาสมาและลำอนุภาค คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเทคโนโลยีเครื่องต้นแบบ ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยทีมนักวิจัยและบริษัท อินโนพลาสซีเอ็ม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัท start-up แยกตัวตัวออกมาจากทางศูนย์วิจัยฯ เครื่อง Compact Air Plasma Jet มีคุณสมบัติเด่นคือ สามารถทำลายเชื้อแบคทีเรียในบริเวณแผลได้อย่างมีประสิทธิภาพและกระตุ้นเนื้อเยื่อใหม่ ทำให้แผลหายกลับเป็นปกติได้การพ่นพลาสมาไม่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเจ็บแสบที่แผล และทำให้แผลหายเร็วขึ้น เนื่องจากสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องรับประทานยาแก้อักเสบเพื่อฆ่าเชื้อในแต่ละวันอีกด้วย จึงเป็นการลดค่ายา และอุปกรณ์ทำแผลต่าง ๆ
โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ธีรวรรณ บุญญวรรณ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย
2. วัสดุระบายความร้อนด้วยการแผ่รังสี (Radiative cooling materials)
ฟิล์มระบายความร้อนด้วยการแผ่รังสีเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ได้รับความสนใจอย่างมาในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถดึงความร้อนจากในอาคารสู่นอกอาคาร โดยไม่ใช้พลังงานใดๆ (passive cooling) โดยฟิล์มระบายความร้อนเป็นวัสดุที่สามารถปล่อยรังสีความร้อนที่มีความยาวคลื่นในช่วง 8–13 ไมโครเมตร ได้ดี ซึ่งช่วงนี้ถูกเรียกว่าหน้าต่างบรรยากาศ (atmospheric window) เป็นช่วงความยาวคลื่นที่บรรยากาศทำตัวเหมือนหน้าต่าง ปลดปล่อยพลังงานความร้อนส่วนใหญ่ในรูปรังสีอินฟราเรดจากโลกสู่อวกาศ จริงๆแล้ว “ปรากฏการณ์โลกร้อน” ก็คือการที่มีแก๊สบางชนิดในบรรยากาศที่มากเกินไป แก๊สเหล่านี้สามารถดูดกลื่นรังสีความร้อนในช่วง 8–13 ไมโครเมตร ได้ทำให้หน้าต่างบรรยากาศแคบลงกว่าแต่ก่อนโลกเราจึงระบายความร้อนได้น้อยลงและจึงร้อนขึ้นตามกฎของฟิสิกส์
วัสดุระบายความร้อนด้วยการแผ่รังสีเป็นการยืมหลักการของธรรมชาติดังกล่าวมาใช้และทำให้ดีขึ้น โดยพัฒนาวัสดุให้สามารถแผ่รังสีความร้อนในช่วง 8–13 ไมโครเมตร ให้ดีขึ้น ยิ่งวัสดุสามารถสะท้อนความร้อนช่วงแสงขาวได้ดีคู่กับการแผ่รังสีอินฟราเรด จะสามารถลดความร้อนได้สูงถึง 50 – 100 วัตต์ต่อตารางเมตร ขึ้นอยู่กับระดับความชื้นในอากาศและปัจจัยอื่นๆของสภาพอากาศ
โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.พงศกร กาญจนบุษย์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย
และวันที่ 27 กรกฏาคม 2567 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ ได้จัดเสวนาในหัวข้อเรื่อง “การพัฒนาและส่งเสริมการใช้งานเครื่องพลาสมาบำบัดแผลติดเชื้อเรื้อรัง” เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกันระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรม ณ เวทีย่อย (mini stage) โซน Science for Exponential Growth ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรามาศ โกมลจินดา รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากร ดังนี้
- รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระพงษ์ ว่องรัตนะไพศาล ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พุฒิธร ธะนะ สาขาวิชาวิทยาการข้อมูลและการคำนวณ คณะวิทยาศาสตร์ พลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง