โปรแกรมวิจัยนวัตกรรมทางฟิสิกส์เพื่อการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

บทนำ

โมเดลเศรษฐกิจThailand 4.0 เป็นกระบวนทัศน์ใหม่เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจแบบ “เศรษฐกิจฐานการผลิต (Production-based Economy)” ที่เคยเป็นมาในอดีตจนถึงปีพ.ศ. 2559 ไปเป็นแบบ “เศรษฐกิจสร้างคุณค่า (Value-based หรือ Value-driven Economy)” โดยผ่านการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Science Technology and Innovation หรือ STI) การวิจัยและพัฒนา (R & D) และการปฏิรูปการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนแรงงานไปพร้อมๆกันเพื่อเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระลอกใหม่อย่างเป็นรูปธรรม เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง “10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย: กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต” อันประกอบด้วย 5 First S-curve และ 5 New S-curve ซึ่งจะได้รับการส่งเสริมการลงทุนและสิทธิประโยชน์ทางภาษี ถ้าดูที่กลุ่ม 5 First S-curve จะเห็นได้ว่ามีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการเกษตรและอาหารอยู่ถึง 2 คลัสเตอร์คือ

อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ” และ “อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร”

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของสองอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าวเช่นกัน เพราะไม่แต่เพียงว่าอาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มนุษย์จะขาดเสียมิได้ ยังมีเหตุผลด้านภูมิหลังที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมมาแต่ดั้งเดิม มีภูมิอากาศที่เหมาะสม มีภูมิปัญญาของบรรพชน มีวัฒนธรรมที่พันผูกอยู่กับการเกษตรอย่างลึกซึ้ง จนเป็นอัตลักษณ์ของชาติ นั่นคือเป็นอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่บนฐานของความได้เปรียบทั้งในเชิง “ธรรมชาติ” และในเชิง “วัฒนธรรม” ที่ประเทศไทยมีอยู่เดิม

แต่ถึงแม้ประเทศไทยจะเป็นฐานการเกษตรใหญ่ที่สุดในอาเซียน แรงงานภาคเกษตรของประเทศ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 14.5 ล้านคน ยังคงมีรายได้น้อย มีปัญหาหนี้สิน และยังทำการเกษตรในแบบเดิมๆที่เคยทำมาคือเกษตรแบบธรรมชาติ จึงจำเป็นแล้วที่ต้องเสริมแกร่งด้วย STI ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของโมเดลThailand 4.0 ศูนย์ฯ จึงได้จัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 16,304,000 บาท (สิบหกล้านสามแสนสี่พันบาทถ้วน) ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อใช้ดำเนินการโปรแกรมวิจัยชื่อ นวัตกรรมทางฟิสิกส์เพื่อการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร” ที่จะได้นำความรู้และความเชี่ยวชาญของนักวิจัยเครือข่ายจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในหลายภูมิภาคของประเทศมาบูรณาการกันเพื่อช่วยเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายของเกษตรกรด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มคุณภาพของผลิตผลต้นน้ำและส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตด้วยเทคนิคสมัยใหม่ที่คิดค้นพัฒนาด้วยสติปัญญาของคนไทยเอง

โปรแกรมวิจัยนี้ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559 – 30 กันยายน พ.ศ. 2562 ประกอบด้วย 6 โครงการวิจัยที่มีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับการเกษตรของไทย ที่สามารถเกิดผลได้ทั้งในระยะใกล้ ระยะปานกลางและระยะไกล  แต่ละโครงการวิจัยมีเนื้อหาสำคัญโดยสรุปดังต่อไปนี้