3. การประยุกต์พลาสมาเพื่อเพิ่มมูลค่าข้าวสำหรับตลาดพิเศษ

  1. การประยุกต์พลาสมาเพื่อเพิ่มมูลค่าข้าวสำหรับตลาดพิเศษ

อู่ข้าว อู่น้ำ ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว สะท้อนบทบาทอันสำคัญยิ่งของข้าวในอัตลักษณ์ไทย ทั้งความเกี่ยวข้องในเชิงเศรษฐศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรม  ในปีพ.ศ. 2558 ประเทศไทย สามารถผลิตข้าว รวมทั้งข้าวนาปีและนาปรังคิดเป็นจำนวน 27 ล้านตันข้าวเปลือก  คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม่น้อยกว่า 2.7 แสนล้านบาท ข้าวขาวที่ส่งออกในปี 2558 มีประมาณ 9.80 ล้านตันข้าวสาร คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ข้าวจึงยังคงเป็นตัวจักรที่สำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย

เมื่อมองการบริโภคข้าวในตลาดโลก ย่างก้าวที่อยู่ในรอยต่อของการเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมการบริโภคอาหารของประชากรโลกเปลี่ยนไป กระแสแห่งการดูแลห่วงใยสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้น ข้าวไทยต้องปรับตัว ปรับไปเป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ขยายฐานตลาดและเชื่อมโยงเข้าสู่ Global Food Value Chain ให้ได้

มีปัญหาจากหลายๆ ด้านที่มารุมเร้าตลาดข้าว เช่นด้านอุปสงค์/อุปทาน  กล่าวคืออุปทานมีมากกว่าอุปสงค์  ชนิดข้าวที่ปลูกไม่สอดคล้องกับตลาด และความต้องการบริโภคข้าวต่อหัวต่อปีลดลง ส่วนด้านมาตรฐานนั้น มีมาตรฐานข้าวขาว ข้าวหอมไทย ข้าวหอมมะลิไทย เท่านั้น ทําให้เป็นอุปสรรคในการแข่งขันตลาดในต่างประเทศ ขาดการกําหนดมาตรฐานข้าวเฉดสีและข้าวชนิดอื่นๆ สร้างความสับสนในตลาด โรงสีข้าว  และด้านนวัตกรรม ซึ่งสินค้าที่ซื้อขายในตลาด 90% เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (commodity) ที่ราคาของสินค้าถูกกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทานของตลาดที่มีการแข่งขันสูง แต่ความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่ำ สินค้าจึงมีราคาต่ำ หากไม่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มจากที่กำลังเป็นอยู่ ประเทศไทยจะสูญเสียความได้เปรียบและสูญเสียบทบาทในฐานะผู้ส่งออกข้าวลำดับต้นๆ  ไปอย่างแน่นอน

เมืองนวัตกรรมอาหารเป็นหนทางหนึ่งในการเชื่อมข้าวเข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าอาหาร ปรับเปลี่ยนจากฐานความรู้หรือวิทยาการมาเป็นนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าข้าว ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มโภชนาการในข้าวให้สูงขึ้น การแปรรูปข้าวเป็นแป้งข้าว เพื่อขยายไปสู่ตลาดพิเศษหรือตลาดเฉพาะหรือตลาดใหม่ การส่งเสริมการจำหน่ายข้าวอื่นๆ เช่น ข้าวอินทรีย์ ข้าวเหนียว ข้าวนึ่ง (parboiled rice) เพิ่มเติมจากข้าวหอมมะลิ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และคุณภาพของข้าวให้สูงขึ้น หรือแม้แต่การปกป้องตลาดข้าว

นักวิจัยหลายๆกลุ่มได้เริ่มทดลองศึกษาวิจัยเรื่องการใช้พลาสมาที่ความดันต่ำ เพื่อการปรับปรุงคุณสมบัติของข้าวทั้งในกลุ่มข้าวนึ่ง ข้าวกล้องและข้าวเฉดสี  อาทิเช่น ลดเวลาหุงสุก ปรับเนื้อสัมผัสให้นุ่มขึ้น  กระบวนการปรับปรุงคุณสมบัตินี้ จากการทบทวนวรรณกรรม [1,2,3] จึงทำให้เราทราบว่ายังไม่มีการศึกษาวิจัยผลของพลาสมาต่อข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวกล้องพื้นถิ่น เพื่อปรับปรุงเวลาในการหุงสุกและสมบัติทางเคมีฟิสิคัล โครงการวิจัยนี้จึงริเริ่มการศึกษาวิจัยนี้ขึ้น เพื่อต่อยอดการใช้พลาสมามาอาบข้าวไรซ์เบอร์รีและข้าวกล้องพื้นถิ่น เพื่อปรับปรุงสมบัติที่ไม่พึงประสงค์ของข้าวโดยไม่ก่อให้เกิดผลทางลบต่อคุณค่าทางโภชนาการ  ผลการศึกษาเบื้องต้นในโครงการนี้พบว่าให้ผลที่น่าพอใจ และควรได้รับการศึกษาในเชิงลึกเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ควรจะหาหนทางในการนำไปประยุกต์ในโรงสีชุมชน ซึ่งถือเป็นเป้าหมายอันหนึ่งของโครงการด้วย  เมื่อโครงการฯบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ จะช่วยส่งเสริมให้การปรับปรุงคุณภาพด้วยกระบวนการทางกายภาพที่เป็นกระบวนการสีเขียวและอินทรีย์มากขึ้น อันจะช่วยให้ตลาดข้าวอินทรีย์และข้าวกล้องได้รับความนิยมมากขึ้น

เอกสารอ้างอิง

[1] H. H. Chen, “Investigation of Properties of Long-grain Brown Rice Treated by Low-pressure Plasma”, Food and Bioprocess Technology 7(9) (2014) 2484-2491.

[2] C. Sarangapani, R. Thirumdas, Y. Devi, A. Trimukhe, R. R. Deshmukh and  U. S. Annapure, “Effect of Low-pressure Plasma on Physico–chemical and Functional Properties of Parboiled Rice Flour”, LWT-Food Science and Technology 69 (2016) 482-489.

[3] R. Thirumdas, R. R. Deshmukh and U. S. Annapure, “Effect of Low Temperature Plasma Processing on Physicochemical Properties and Cooking Quality of Basmati Rice”, Innovative Food Science & Emerging Technologies 31 (2015) 83-90.

ขอขอบคุณ: ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน (ที่มา http://dna.kps.ku.ac.th )

หัวหน้าโครงการ: รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์  แดงติ๊บ1)

นักวิจัยสมทบ: รศ. ดร.มานพ  สุพรรณธริกา2) , ผศ. ดร.ประสิทธิ์  สุวรรณเลิศ3) , ผศ. ดร.รุ่งทิวา  วงศกรทรัพย์4) , ดร.วีรวุฒิ  ชัยวัฒน์5) , ดร.อศิรา  เฟื่องฟูชาติ6) ,รศ. ดร.ภูมินทร์  กิระวนิช7)

หน่วยงานต้นสังกัด: 1) ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2) ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 3) ภาควิชาพยาธิชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 4) สาขาวิชาอุตสาหกรรมอาหาร สำนักวิชาสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี, 5) สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ สำนักวิชาสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี, 6) ห้องปฏิบัติการพอลิเมอร์ฟิสิกส์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, 7) ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

แชร์เลย :