You are currently viewing การติดตามและการประสานประโยชน์จากงานวิจัยสู่การพัฒนาในเชิงพาณิชย์

การติดตามและการประสานประโยชน์จากงานวิจัยสู่การพัฒนาในเชิงพาณิชย์

เมื่อวันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน 2565 ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ (ศาสตราจารย์เกียรติคุณ  ดร.ถิรพัฒน์ วิลัยทอง) พร้อมด้วย พลเอกอุทัย ชินวัตร (ที่ปรึกษาผู้อำนวยการฯ) และ ดร.ภาคภูมิ ศรีธิมากุล      (ที่ปรึกษาโครงการโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand : EECd)      ได้ร่วมติดตามการดำเนินงานโครงการวิจัย และหารือการใช้ประโยชน์งานวิจัยเชิงพาณิชย์ของโครงการวิจัย “อินเตอร์เฟียโรมิเตอร์อะตอมสนามใกล้แบบทาล์บอท-เลา” ของห้องปฏิบัติการวิจัยทัศนศาสตร์ควอนตัมและ   นาโน ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สรายุธ เดชะปัญญา หัวหน้าโครงการวิจัยให้การต้อนรับ และได้พาคณะเข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยและบรรยายหลักการของเทคโนโลยีอินเตอร์เฟียโรมิเตอร์อะตอม รวมไปถึงหารือการประยุกต์ใช้ชุดระบบเลเซอร์ที่ห้องปฏิบัติการวิจัยพัฒนาขึ้นเองกับกลุ่มอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่ EECd โดยโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand หรือ EECd) นี้ อยู่ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่จะเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุนด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาค เน้นให้เกิดการลงทุนธุรกิจดิจิทัลควบคู่กับการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ตลอดจนยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีทีเดิมไปสู่อุตสาหกรรมดิจิทัลยุคใหม่ (New S-Curve Digital Industry)

ต่อมา ศูนย์ฯ ได้รับการติดต่อจาก ดร.ภาคภูมิ ศรีธิมากุล ที่ปรึกษาโครงการฯ แจ้งว่าทางคณะที่ปรึกษาได้ให้ความสนใจในและขอร่วมติดตามการดำเนินงานโครงการวิจัยและหารือการใช้ประโยชน์งานวิจัยเชิงพาณิชย์ เพื่อเป็นประโยชน์ในการผลักดันงานวิจัยในเครือข่ายศูนย์ฯ สู่อุตสาหกรรม โดยได้กำหนดให้มีการเดินทางไปร่วมติดตามและหารือฯ ดังนี้

(1) โครงการการสร้างเครื่องผลิตกราฟีนออกไซด์และรีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ระบบอัตโนมัติสำหรับอุตสาหกรรม (ปั้นดาว) ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565

(2) โครงการการพัฒนาเตาเผาพลาสมาร้อนเพื่อกำจัดขยะติดเชื้อและขยะอันตราย (ปั้นดาว) และการพัฒนาเตาอบไมโครเวฟระดับอุตสาหกรรม  ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2565

(3) โครงการวิจัยการพัฒนาห้องปฏิบัติการเลเซอร์อิเล็กตรอนอิสระย่านอินฟราเรดและสถานีทดลองขั้นสูงสำหรับการวิจัยระดับแนวหน้าและการประยุกต์ภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันวิจัยเดซี ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565

(4) โครงการการผลิตเครื่อง Compact Air Plasma Jet ภายใต้มาตรฐานการผลิตเครื่องมือแพทย์ ISO 13485 สำหรับผู้ป่วยแผลเรื้อรัง (ปั้นดาว) ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565

(5) ห้องปฏิบัติการเครื่องวิเคราะห์ผิววัสดุ X-ray Photoelectron Spectroscopy (XPS) ณ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์  เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565

(6) โครงการวิจัยการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบและนวัตกรรมระบบทำความเย็นเชิงแม่เหล็ก ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565

(7) โครงการวิจัยการศึกษาวัสดุแมกนีโตแคลอริคและการประยุกต์สำหรับเครื่องทำความเย็นแม่เหล็ก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565

(8) โครงการวิจัยการศึกษาสภาพนำไฟฟ้าเชิงแสงและการสั่นของพลาสมาบนผิวแผ่นแกรฟีนบางสำหรับการเปล่งคลื่นความถี่ย่านเทร่าเฮิรตซ์ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565

(9) โครงการวิจัยการพัฒนาฟิล์มระบายความร้อนด้วยการแผ่รังสีด้วยวัสดุต้นทุนต่ำ เช่น พอลิเมอร์ เซลลูโลส และอนุภาคอนินทรี เพื่อใช้ในทางการเกษตร ณ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565

(10) โครงการวิจัยการพัฒนาระบบเคลือบแข็งยิ่งยวดด้วยเทคนิคการตกสะสมด้วยไอออนเชิงกายภาพบนอุปกรณ์ตัดเฉือน ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565

(11) โครงการวิจัยการศึกษากลไกพื้นฐานของเลเซอร์นาโนย่านอินฟราเรดและเทระเฮิรตซ์เพื่อการประยุกต์ใช้สำหรับความมั่นคง ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565

(12) โครงการวิจัยการเพิ่มประสิทธิภาพของเซลล์แสงอาทิตย์ชนิด CIGS ด้วยโครงสร้างเซลล์แบบแทนเดม Perovskite-CIGS ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 20 กรกฎาคม 2565

โดยทาง EECd ต้องการเฟ้นหางานวิจัย/หน่วยวิจัยที่ตอบโจทย์การยกระดับพื้นที่อุตสาหกรรมให้เกิด Ecosystem Innovation เพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตของกลุ่มอุตสาหกรรมมาลงทุนยังเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (พื้นที่ EECd) โดยมีแนวทางการดำเนินงานร่วม ดังนี้

(1) ด้านกำลังคน

(1.1) ศูนย์ฯ จะเป็นศูนย์ฯ กลางด้านกำลังคนสมรรถนะสูง เสนอแนะ แนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มีศักยภาพและสามารถนำไปใช้ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในทุกกลุ่มเป้าหมาย

(1.2) ร่วมกับมหาวิทยาลัยในเครือข่ายฯ ในการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพให้แก่บุคลากรภาคอุตสาหกรรม

(2) ด้านงานวิจัยและพัฒนา

(2.1) ศูนย์ฯ จะทำหน้าที่เป็นแกนในการประสานใช้ประโยชน์งานวิจัยจากเครือข่ายวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยรวมกันส่งเสริมให้เกิดกลไกความร่วมมือเครือข่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี ผลักดันให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับแนวนโยบายชาติและนโยบายเร่ง ด่วนของรัฐบาล

(2.2) ศูนย์ฯ จะทำหน้าที่เป็นศูนย์ฯ กลางในการรับปัญหาความต้องการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จากภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานในสังกัด/เครือข่ายเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการได้อย่างทันท่วงที

(3) ด้านเครื่องมือวิเคราะห์ระดับอุตสาหกรรมขั้นสูง

(3.1) ศูนย์ฯ จะเป็นตัวกลางในการประสานการใช้เครื่องมือวิเคราะห์ต่างๆ ของห้องปฏิบัติการวิจัยในเครือข่ายศูนย์ฯ ที่เปิดให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรม

(3.2) EECd จะเป็นผู้ประสานงานหาความต้องการใช้งานเครื่องมือวิเคราะห์/ทดสอบเชิงฟิสิกส์ ในเครือข่ายสมาชิกโรงงานอุตสาหกรรมของ EECd และระดมทุนในการจัดหาเครื่องมือวิเคราะห์/ทดสอบ ให้ศูนย์ฯ เป็นผู้กำกับดูแล

แชร์เลย :