You are currently viewing การศึกษาแนวทางการฉีดวัคซีนที่เหมาะสมในสถานการณ์ที่วัคซีนมีจำนวนจำกัด: กรณีศึกษาการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย

การศึกษาแนวทางการฉีดวัคซีนที่เหมาะสมในสถานการณ์ที่วัคซีนมีจำนวนจำกัด: กรณีศึกษาการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย

ทีมนักวิจัยห้องปฏิบัติการชีวฟิสิกส์ และศูนย์การจำลองโรค คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับนักวิจัยไทยและต่างประเทศ ศึกษาวิจัยเพื่อหาแนวทางในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 และหากลยุทธ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่เหมาะสม เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย

ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกแรก แต่การใช้มาตรการควบคุมการระบาดโดยการปิดประเทศและปิดสถานที่ต่าง ๆ พร้อม ๆ กันทั่วประเทศนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของไทยเป็นอันมาก ดังนั้นการศึกษาเพื่อหามาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 และหากลยุทธ์ในการฉีดวัคซีนที่เหมาะสมจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย งานวิจัยนี้นำเสนอแบบจำลองการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่มีความจำเพาะเจาะจงต่อบริบทของประเทศไทย กล่าวคือ แบบจำลองคำนึงถึงประเภทและปริมาณของวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้ในประเทศไทย การฉีดวัคซีนสองเข็มที่ระยะเวลาระหว่างเข็มแตกต่างกันตามชนิดของวัคซีน การฉีดวัคซีนแบบปกติ (homologous vaccination) และการฉีดวัคซีนแบบไขว้ (heterologous vaccination) พร้อมทั้งพิจารณาถึงความสามารถในการแพร่เชื้อและความรุนแรงของโรคที่แตกต่างกันในคนแต่ละกลุ่มอายุ เป็นต้น

จากผลการศึกษา ผู้วิจัยพบว่าในสภาวะที่เรามีวัคซีนจำนวนจำกัดนั้น การฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุก่อนสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้มากที่สุด อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนให้กับคนกลุ่มวัยทำงานก่อนจะสามารถช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้มากที่สุด นอกจากนั้น ผู้วิจัยพบว่าสำหรับในช่วงแรก ๆ ของการผลิตวัคซีนโควิด-19 ที่วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงมีไม่เพียงพอต่อความต้องการนั้น การพยายามฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชากรไทยให้ได้จำนวนมากและเร็วที่สุด โดยการใช้วัคซีนโควิด-19 หลากหลายชนิด สามารถช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตและจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมได้มากกว่าการรอใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงเพียงชนิดเดียว อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยพบว่าการฉีดวัคซีนแบบไขว้ (heterologous vaccination) ไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการฉีดวัคซีนแบบปกติ (homologous vaccination) เสมอไป

งานวิจัยนี้สอดคล้องกับ SDG 3: Good Health and Well-being การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี โดยงานวิจัยนี้ได้ให้แนวทางในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่เหมาะสมในประเทศไทย เพื่อช่วยลดผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศ

การอ้างอิงของงานวิจัย

Suparinthon Anupong, Tanakorn Chantanasaro, Chaiwat Wilasang, …, and Charin Modchang. (2023). Modeling vaccination strategies with limited early COVID-19 vaccine access in low- and middle-income countries: A case study of Thailand. Infectious Disease Modelling, 8 (4), 1177-1189.

งานวิจัยถูกตีพิมพ์ในวารสาร Infectious Disease Modelling (Q1 ISI/Scopus, Impact Factor 8.8)
Published: December 2023

ผู้สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่
https://doi.org/10.1016/j.idm.2023.11.003

รายชื่อนักวิจัย

Suparinthon Anupong , Tanakorn Chantanasaro, Chaiwat Wilasang, Natcha C. Jitsuk, Chayanin Sararat, Kan Sornbundit, Busara Pattanasiri, Dhammika Leshan Wannigama, Mohan Amarasiri, Sudarat Chadsuthi, Charin Modchang

แชร์เลย :