You are currently viewing การแข่งขัน ThEP Hackathon : Carbon Net Zero

การแข่งขัน ThEP Hackathon : Carbon Net Zero

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ ได้จัดการแข่งขัน Hackathon: Carbon Net Zero ในระหว่างวันที่ 14 – 15 มิถุนายน 2566 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในหัวข้อการแข่งขัน Zero CO2 Waste via Physics Method ภายในเวลา 24 ชั่วโมง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวทางแก้ปัญหาเชิงนวัตกรรมผ่านกิจกรรมการแข่งขัน Hackathon ให้สามารถเข้าใจปัญหา คิดวิเคราะห์ และระดมความคิดสร้างสรรค์ผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ เพื่อจัดการให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมหรือผลิตภัณฑ์เป็นศูนย์

ในการแข่งขันรอบที่ 1 เป็นการแข่งขันโดยทีมผู้เข้าแข่งขันส่งคลิปวิดีโอนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ Carbon Net Zero และมีทีมผู้เข้าแข่งขันจากโรงเรียนต่างๆ จำนวน 7 ทีม ได้แก่ โรงเรียนจักรคำคณาทร, โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย, โรงเรียนวชิรป่าซาง, โรงเรียนวชิรวิทย์ เชียงใหม่, โรงเรียนสตรีวัดมหาพฤฒาราม ในพระบรมราชินูปถัมภ์, โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) และโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ได้รับการคัดเลือกให้ผ่านเข้าร่วมการแข่งขันในรอบที่ 2 ในระหว่างวันที่ 14-15 มิถุนายน 2566

ในพิธีการแข่งขันดังกล่าว รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงมณี ว่องรัตนะไพศาล รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ ได้กล่าวต้อนรับและเปิดการแข่งขันฯ โดยได้เชิญวิทยากรมาบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับ Carbon Net Zero ก่อนเริ่มการแข่งขัน ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นันทิยา อัจจิมารังษี อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมการแข่งขันในมุมมองของนักชีววิทยา และดร.อภิวัฒน์ วิใจคำ นักวิทยาศาสตร์ ระดับ 6 ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม กฟผ. และประธานกรรมการบริหาร บริษัท อินโนพลาสซีเอ็ม จำกัด ให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมการแข่งขันในมุมมองของนักฟิสิกส์รวมถึงแนวทางในการนำเสนอผลงานในรอบ Final Pitching

หลังจากจบการแข่งขันศูนย์ฯ ได้มีการประกาศผลการตัดสินและมอบรางวัล ในงานประชุมวิชาการ Siam Physics Congress ครั้งที่ 18 ประจำปี 2566 (SPC 2023) ในวันที่ 16 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม นายกสมาคมฟิสิกส์ไทย เป็นผู้มอบรางวัลให้แก่ทีมผู้เข้าแข่งขัน ดังนี้

รางวัลชนะเลิศ                             ได้แก่    โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ได้รับเงินรางวัล จำนวน 40,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1        ได้แก่    โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) ได้รับเงินรางวัล จำนวน 20,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2        ได้แก่    โรงเรียนวชิรป่าซาง ได้รับเงินรางวัล จำนวน 10,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ

รางวัลชมเชย                               ได้แก่    โรงเรียนสตรีวัดมหาพฤฒาราม ในพระบรมราชินูปถัมภ์, โรงเรียนจักรคำคณาทร, โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย                                                                                                และโรงเรียนวชิรวิทย์ เชียงใหม่ ได้รับเงินรางวัล จำนวน 5,000 บาท

สามารถดูรูปเพิ่มเติมได้ <<ที่นี่>>

 

แชร์เลย :