You are currently viewing ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ให้การต้อนรับผู้บริหารและนักวิจัยจากโครงการ IceCube ณ ศูนย์แจ้งเตือนภัยสภาพอวกาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ให้การต้อนรับผู้บริหารและนักวิจัยจากโครงการ IceCube ณ ศูนย์แจ้งเตือนภัยสภาพอวกาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 รศ.ดร.ดวงมณี ว่องรัตนะไพศาล รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ ได้ให้การต้อนรับ Professor Albrecht Karle รองผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์และเครื่องมือโครงการวิจัยหอสังเกตการณ์นิวตริโน IceCube พร้อมด้วย Professor Paul Evenson จาก University of Delaware ณ ศูนย์นวัตกรรมดิจิตัลเพื่อการสังเกตการณ์ เฝ้าระวัง และเตือนพิบัติภัยอวกาศ (Digital Innovation Center for Observation, Monitoring, and Warning of Space Hazards) ที่ดำเนินการโดยกลุ่มวิจัยระบบบนิเวศโลก-อวกาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยการสนับสนุนของศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ ณ อาคารฟิสิกส์ 1 ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการนี้ ผศ.ดร.ศิรามาศ โกมลจินดา หัวหน้ากลุ่มวิจัย ผศ.ดร.วราภรณ์ นันทิยกุล และ ผศ.ดร.สุวิชา วรรณวิเชียร ได้ร่วมต้อนรับและอธิบายเกี่ยวกับการทำงานของศูนย์เตือนภัยสภาพอวกาศ

โครงการศูนย์นวัตกรรมดิจิตัลเพื่อการสังเกตการณ์ เฝ้าระวัง และเตือนพิบัติภัยอวกาศ เป็นโครงการวิจัยและให้บริการวิชาการที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการนำเสนอและให้บริการข้อมูลด้านสภาพอวกาศ (Space Weather) เพื่อแจ้งเตือน เฝ้าระวัง และเตือนภัย ผลกระทบจากสภาพอวกาศจากเหตุการณ์รุนแรงจากดวงอาทิตย์ เช่น การปะทุที่ผิวดวงอาทิตย์ การปลดดปล่อยก้อนมวลโคโรนา การเกิดพายุสุริยะ เป็นต้น โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารจัดการข้อมูลทางอวกาศจากสถานีตรวจวัดรังสีคอสมิกและอนุภาคพลังงานสูงที่เป็นเครือข่ายทั่วโลก ที่มีทั้งบนพื้นโลก ใต้พื้นดิน และบนอวกาศ การวิเคราะห์ข้อมูล การสร้างแบบจำลองเพื่อพยากรณ์สภาพอวกาศและผลกระทบ และการเผยแพร่ข้อมูลเตือนภัยสภาพอวกาศ เพื่อแจ้งเตือนผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อโลกและกิจกรรมของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ อาทิ ระบบนำร่อง ระบบไฟฟ้า ระบบท่อขนส่ง ฯลฯ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ยุคเศรษฐกิจอวกาศ โดยในปัจจุบัน โครงการศูนย์เตือนภัยสภาพอวกาศมีความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาร่วมกับหน่วยงานและสถาบันต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) IceCube Neutrino Observatory, University of Delaware, University of Hawaii, Shinshu University, Korea Astronomy and Space Science Institute และ Korea Polar Research Institute เป็นต้น

แชร์เลย :