You are currently viewing ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ ร่วมจัดนิทรรศการแสดงผลงานในงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย ประจำปี 2566 : TechnoMart 2023

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ ร่วมจัดนิทรรศการแสดงผลงานในงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย ประจำปี 2566 : TechnoMart 2023

ระหว่างวันที่ 11 – 15 สิงหาคม 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงมณี ว่องรัตนะไพศาล รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ เข้าร่วมงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย ประจำปี 2566 : TechnoMart 2023 ภายใต้แนวคิด BCG สู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า “พลิกโฉมประไทยสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยื่น” โดยมี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเปิดงาน ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงาน และนางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เยี่ยมชมผลงานนิทรรศการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ ณ Hall 12 ศูนย์สินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี กรุงเทพมหานคร

โดยงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย ประจำปี 2566 : TechnoMart 2023 จัดโดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ระหว่างวันที่ 11 – 15 สิงหาคม 2566 เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศน์การนำผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ผลักดันให้เกิดการซื้อขาย การเจรจาธุรกิจ นำไปสู่การสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างยั่งยืน ในงานดังกล่าวศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ ได้จัดนิทรรศการแสดงผลงาน ได้แก่

1. เทคโนโลยีพลาสมา เพื่อดูแลผู้ป่วยแผลเรื้อรัง : Compact Air Plasma Jet ภายใต้มาตรฐานการผลิตเครื่องมือแพทย์ ISO 13485 ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โครงการ “ปั้นดาว” ในดำเนินการผลิตเครื่อง Compact Air Plasma Jet ที่ได้รับการสนับสนุนในการพัฒนาระยะแรกจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ ผ่านศูนย์วิจัยฟิสิกส์ของพลาสมาและลำอนุภาค คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเทคโนโลยีเครื่องต้นแบบ ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยทีมนักวิจัยและบริษัท อินโนพลาสซีเอ็ม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัท start-up แยกตัวตัวออกมาจากทางศูนย์วิจัยฯ เครื่อง Compact Air Plasma Jet มีคุณสมบัติเด่นคือ สามารถทำลายเชื้อแบคทีเรียในบริเวณแผลได้อย่างมีประสิทธิภาพและกระตุ้นเนื้อเยื่อใหม่ ทำให้แผลหายกลับเป็นปกติได้การพ่นพลาสมาไม่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเจ็บแสบที่แผล และทำให้แผลหายเร็วขึ้น เนื่องจากสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องรับประทานยาแก้อักเสบเพื่อฆ่าเชื้อในแต่ละวันอีกด้วย จึงเป็นการลดค่ายา และอุปกรณ์ทำแผลต่าง ๆ

โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ธีรวรรณ บุญญวรรณ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย

2. เทคโนโลยีพลาสมาเพื่อความยั่งยื่นของอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม

2.1 การชุบเคลือบผิวโลหะด้วยเทคโนโลยีพลาสมา

Plasma Nitriding System

พลาสมาไนไตรดิง เทคนิคการชุบผิวแข็งโลหะ (surface hardening) ดีที่สุดในปัจจุบัน พื้นผิวที่ผ่านกระบวนพลาสมาไนไตรดิงจะมีความแข็งที่ผิวเพิ่มขึ้น แต่ยังคงสมบัติที่ดีของแกนกลางโลหะ และสามารถทนต่อการสึกหรอได้ดีไม่แตกหักง่าย และยังใช้อุณหภูมิในกระบวนการที่ต่ำ (450-500 °C) ทำให้วัสดุไม่เกิดการเสียรูป

Magnetron Sputtering System

แมกนีตรอนสปัตเตอริง เป็นเทคนิคการเคลือบฟิล์มบางภายใต้ สภาวะสุญญากาศ โดยอาศัยหลักการทางกายภาพเพื่อทำให้เป้าของสารเคลือบ (ของแข็ง) กลายเป็นไอ และตกสะสมลงบนชิ้นงาน ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องประดับเพื่อเพิ่มสมบัติเชิงผิวและความสวยงาม สามารถเคลือบฟิล์มได้หลายชนิด เช่น ฟิล์มไทเทเนียมไนไตรด์ ฟิล์มไทเทเนียมคาร์ไบด์ เป็นต้น

Ionized Physical Vapor Deposition (IPVD) System

ระบบ IPVD ถูกพัฒนาเพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เช่น  อุตสาหกรรมแผ่นบันทึกข้อมูลทางแม่เหล็ก อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ตัดเฉือนอุตสาหกรรมของเล่น เป็นต้น ซึ่งระบบนี้สามารถเคลือบฟิล์มบาง DLC ได้หลายชนิดโดยภายในประกอบด้วยเทคนิคการเคลือบฟิล์ม 3 เทคนิค ได้แก่

1. Filtered Cathodic Vacuum Arc source (FCVA)

2. Linear Anode Layer Ion source (L-ALIS)

3. Magnetron sputtering (MS)

โดยมี อาจารย์ ดร.นิติศักดิ์ ปาสาจะ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย

2.2 การบำบัดน้ำเสียด้วยเทคโนโลยีพลาสมา

เทคโนโลยีพลาสมาออกซิเจนความดันบรรยากาศ

เมื่อใช้แก๊สออกซิเจนในการผลิตพลาสมาที่ความดันบรรยากาศ จะได้กลุ่มอนุมูลออกซิเจนที่ไวต่อปฏิกิริยา  (reactive oxygen species, ROS) ที่สำคัญ คือ อะตอมออกซิเจน โอโซนและออกซิเจนในสถานะกระตุ้น (excited oxygen) เมื่ออนุภาคเหล่านี้สัมผัสกับน้ำจะเกิดปฏิกิริยาเคมีที่ทำให้เกิดอนุมูลไฮดรอกซิลและไอโดรเจนเปอร์ออกไซด์ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการย่อยสลายสารเคมีหรือเซลล์จุลินทรีย์ด้วยกระบวนการออกซิเดชันขั้นสูง

เทคโนโลยีพลาสมาเทคโนโลยีสะอาดเพื่อโลกและสิ่งแวดล้อม

การบำบัดน้ำด้วยเทคโนโลยีพลาสมาสามารถช่วยให้น้ำเหลือใช้จากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารทางการเกตร ประมง น้ำตาล เอทานอล การเลี้ยงสัตว์ การปลูกพืชในโรงเรือน การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น หรือทางด้านอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โรงงานอุตสาหกรรมที่มีสารเคมีปนเปื้อน เป็นต้น “หัวใจของการบำบัดน้ำเหลือใช้จากกระบวนการผลิตคือการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ในอุตสาหกรรมได้”

โดยมี อาจารย์ ดร.สุรีย์พร สราภิรมย์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย

3. ฟิล์มบางลดอุณหภูมิเพื่อการขนส่งและการเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตร

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ได้ร่วมกันพัฒนาโปรแกรมวิจัยเพื่อพัฒนาต้นแบบระบบบรรจุภัณฑ์อาหารแห่งอนาคตและระบบการเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณสมบัติ

– สามารถลดความร้อนแบบแผ่รังสี

– สามารถนำไปใช้กับบรรจุภัณฑ์ และการเก็บเกี่ยว

– นำไปใช้กับการขนส่ง และเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

– สามารถยืดอายุผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

– นอกจากนั้นสามารถนำไปใช้ในการลดอุณหภูมิอาคารและยานพาหนะ

โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ, รองศาสตราจารย์ ดร.พงศกร กาญจนบุษย์ และรองศาสตราจารย์ ดร.พิชญา พูลลาภ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย

แชร์เลย :