You are currently viewing ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ เข้าร่วมงานแถลงข่าวโครงการความร่วมมือไทย-ไอซ์คิวบ์ ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ เข้าร่วมงานแถลงข่าวโครงการความร่วมมือไทย-ไอซ์คิวบ์ ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงมณี ว่องรัตนะไพศาล รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ เข้าร่วมงานงานแถลงข่าวโครงการความร่วมมือไทย-ไอซ์คิวบ์ ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาในการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการตรวจวัดอนุภาคนิวทริโนจากวัตถุนอกระบบสุริยะ ณ ห้องแถลงข่าว อาคารพระจอมเกล้า (ถนนโยธี) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วราภรณ์ นันทิยกุล ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับโครงการวิจัยด้านดาราศาสตร์ โครงการความร่วมมือนิวทริโนไอซ์คิวบ์และโครงการสำรวจตัดข้ามละติจูด ในฐานะหัวหน้าโครงการ โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการวิจัยตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ​ สยามบรมราชกุมารี

ซึ่งในปี พ.ศ.2566 นี้ โครงการฯ จะส่งนักวิจัยไทยจำนวน 2 คน ไปปฏิบัติหน้าที่ ณ ทวีปแอนตาร์กติก ได้แก่ ว่าที่เรือโท ดร.ชนะ สินทรัพย์วโรดม อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปปฏิบัติงานเพื่อเตรียมการขุดเจาะน้ำแข็ง เพื่อติดตั้งเซ็นเซอร์วัดแสงของหอสังเกตการณ์นิวทริโนไอซ์คิวบ์ ณ ตำแหน่ง 90 องศาใต้ ระหว่างวันที่ 7 ธันวาคม 2566 ถึง 14 กุมภาพันธ์​ 2567 โดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ประเทศสหรัฐอเมริกา และนางสาวอัจฉราภรณ์ ผักหวาน ผู้ช่วยนักวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่จะนำเครื่องตรวจวัดอนุภาคนิวตรอนแบบเคลื่อนที่ “ช้างแวน” ไปกับเรือตัดน้ำแข็งเอราออน ของสถาบันวิจัยขั้วโลกเกาหลี ไปยังทวีปแอนตาร์กติกา ระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม 2566 ถึงราวเดือนเมษายน 2567

ในงานแถลงข่าวครั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ​ สยามบรมราชกุมารี ได้กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยสำนึกในพระราชดำริและทรงสนับสนุนให้นักวิจัยไทยได้เดินทางไปทำวิจัย ณ​ พื้นที่แถบขั้วโลก ผ่านมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งพระองค์ท่านทรงเป็นองค์ประธานมูลนิธิฯ

และศาสตราจารย์​ นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์ด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกล่าวขอบคุณหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้สนับสนุนการวิจัยของทั้งสองโครงการ ได้แก่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)​ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)​ และหน่วยงานร่วมวิจัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)​ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

โดยงานแถลงข่าวโครงการความร่วมมือไทย-ไอซ์คิวบ์ ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในครั้งนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ได้รับเกียรติจากโครงการฯ ให้เป็นผู้ประสานงานจัดงานแถลงข่าวดังกล่าว

แชร์เลย :