You are currently viewing ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์เข้าเยี่ยมชมหน่วยงานร่วมดำเนินงานและหารือแนวทางความร่วมมือในการพัฒนางานวิจัยฉนวนโทโพโลยี วัสดุแม่เหล็ก และเซมิคอนดักเตอร์

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์เข้าเยี่ยมชมหน่วยงานร่วมดำเนินงานและหารือแนวทางความร่วมมือในการพัฒนางานวิจัยฉนวนโทโพโลยี วัสดุแม่เหล็ก และเซมิคอนดักเตอร์

ระหว่างวันที่ 10 – 11 มีนาคม 2568 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงมณี ว่องรัตนะไพศาล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.วิทยา อมรกิจบำรุง และ ดร.ภาคภูมิ ศรีธิมากุล รวมถึงทีมนักวิจัยจากสถาบันร่วมดำเนินงาน ได้เข้าเยี่ยมชมและหารือแนวทางความร่วมมือในการผลักดันการพัฒนางานวิจัย และเสริมสร้างทักษะด้านงานวิจัยฉนวนโทโพโลยี วัสดุแม่เหล็ก และเซมิคอนดักเตอร์ ณ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) และศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) สังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ได้รับการสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ให้ดำเนินโครงการพัฒนาบุคลากรวิจัยสมรรถนะสูง ระดับหลังปริญญาเอก ทางด้านฟิสิกส์ของสสารควบแน่น เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ครอบคลุมงานวิจัยด้านฉนวนโทโพโลยี วัสดุแม่เหล็ก และเซมิคอนดักเตอร์ ตลอดจนการยกระดับบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ และนวัตกร ให้มีความเชี่ยวชาญสูงมากขึ้น

นอกจากนี้ คณะผู้แทนยังได้ติดตามความคืบหน้าโครงการ ถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตรีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด โดยเป็นโครงการที่เกิดจากผลผลิตของงานวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่งานภาคประชาสังคม (โครงการ “ปั้นดาว”)

โครงการนี้นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.เชรษฐา รัตนพันธ์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งได้พัฒนา โรงงานต้นแบบผลิตรีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ระบบอัตโนมัติระดับอุตสาหกรรม และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับ บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด เพื่อจัดตั้ง โรงงานผลิตกราฟีน ขนาดอุตสาหกรรม ณ ศูนย์กระจายสินค้าสุวรรณภูมิ กรุงเทพมหานคร

การลงพื้นที่ครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของคณะผู้วิจัยในการดำเนินโครงการให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย คณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รับฟังปัญหา และให้ข้อเสนอแนะเพื่อให้การดำเนินงานสามารถตอบโจทย์ความต้องการของประเทศในอนาคตต่อไป

แชร์เลย :