You are currently viewing ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ เข้าร่วมงานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม ประจําปี 2566 (TRIUP Fair 2023)

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ เข้าร่วมงานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม ประจําปี 2566 (TRIUP Fair 2023)

วันที่ 18 กรกฎาคม 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงมณี ว่องรัตนะไพศาล รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ กปว. สปอว. เข้าร่วมงาน “มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2566″ (TRIUP Fair 2023) ภายใต้แนวคิด Journey to Impact: เส้นทางจากงานวิจัย และนวัตกรรมสู่การยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยมี ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม (กสว.) กล่าวเปิดงาน และรองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ณ รอยัลพารากอน ฮอลล์ 1-3 ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน

โดย “มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2566″ (TRIUP Fair 2023) จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ระหว่างวันที่ 18 – 19 กรกฎาคม 2566 เพื่อให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้ประโยชน์สามารถเข้าถึงผลงานวิจัยและนวัตกรรมและเจ้าของผลงานวิจัยได้ง่ายขึ้น อีกทั้งเป็นการสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 ในงานดังกล่าวศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์และหน่วยวิจัยในเครือข่ายศูนย์ฯได้ร่วมจัดแสดงผลงาน/ผลิตภัณฑ์ที่มีความพร้อมใช้ และมีโอกาสต่อยอด/ขยายผลการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ในโซนการสนับสนุน Net Zero Emission  ได้แก่ ผลงานการสร้างเครื่องผลิตกราฟินออกไซด์และรีดิวซ์กราฟินออกไซด์ระบบอัตโนมัติสำหรับอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลงานของ รองศาสตราจารย์ ดร.เชรษฐา รัตนพันธ์และทีมวิจัย หน่วยวิจัยในเครือข่ายศูนย์ฯ สังกัดสถาบันเทคโนโยลีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และในโซนการยกระดับสุขภาพคนไทยและอุตสาหกรรมการแพทย์  ได้แก่ ผลงาน Nightingale: เครื่องพลาสมา อากาศบำบัดแผลติดเชื้อ (Compact Air Plasma Jet: CAPJ) ซึ่งเป็นผลงานของ รองศาสตราจารย์ ดร.ธีรวรรณ บุญญวรรณและทีมวิจัย หน่วยวิจัยในเครือข่ายศูนย์ฯ สังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยภายในงาน การจัดแสดงผลงานดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย นำไปสู่การเจรจา Business Matching และเครือข่ายความร่วมมือ ผู้เข้าเยี่ยมชมงานให้ความสนใจและสอบถามเกี่ยวกับการต่อยอดผลงานวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านอื่นเพิ่มเติม ศูนย์ฯ ได้รับทราบประเด็นท้าทายจากผู้มีส่วนได้เสียในภาคธุรกิจต่างๆ ที่ต้องการให้หน่วยงานสนับสนุนด้านการวิจัยช่วยแก้ไขปัญหาของภาคผู้ประกอบการ ทั้งนี้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยที่ศูนย์ฯ ได้ให้การสนับสนุนและสั่งสมองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่องมาช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้แก่ทุกภาคส่วนต่อไป

แชร์เลย :