You are currently viewing ซีพี ออลล์ ต่อยอดงานวิจัย “เครื่องผลิตกราฟีนออกไซด์ระดับอุตสาหกรรม” เสริมทัพธุรกิจ New S-Curve วัสดุแห่งอนาคตหนุนภาคธุรกิจลดต้นทุนนำเข้าถึง 50%

ซีพี ออลล์ ต่อยอดงานวิจัย “เครื่องผลิตกราฟีนออกไซด์ระดับอุตสาหกรรม” เสริมทัพธุรกิจ New S-Curve วัสดุแห่งอนาคตหนุนภาคธุรกิจลดต้นทุนนำเข้าถึง 50%

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน 2564 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผนึกกำลัง บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ถ่ายทอดเทคโนโลยี “เครื่องผลิตกราฟีนออกไซด์ระดับอุตสาหกรรม” เสริมกำลังการผลิตธุรกิจ New S-Curve ด้วยการเชื่อมโยงนวัตกรรม เทคโนโลยีและองค์ความรู้ทางวิชาการ หลังนักฟิสิกส์ สจล. วิจัยพบศักยภาพในการผลิตกราฟีนออกไซด์ จนนำไปสู่การจัดตั้ง “โรงงานต้นแบบผลิตกราฟีนออกไซด์ระบบอัตโนมัติระดับอุตสาหกรรม” แห่งแรกของไทย ที่มีกำลังการผลิตที่ 15 กิโลกรัมต่อเดือน ทั้งนี้สมบัติพิเศษของ ‘กราฟีนออกไซด์’ วัสดุแห่งอนาคตสามารถต่อยอดการผลิตในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ วัสดุดูดซับและกำจัดเชื้อโรค ในอุตสาหกรรมทางด้านการแพทย์ แผ่นเกราะป้องกันกระสุน ในอุตสาหกรรมด้านยุทโธปกรณ์ ซีเมนต์สมัยใหม่ ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามในพิธีลงนามลงนามสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยี “เครื่องผลิตรีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ระดับโรงงานอุตสาหกรรม”ณ อาคารกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สำนักงานอธิการบดี) ชั้น 7 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้จัดพิธีลงนาม บันทึกความร่วมมือ “การถ่ายทอดเทคโนโลยีเครื่องผลิตรีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ระดับโรงงานอุตสาหกรรม” ระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กับ บริษัท ซีพีออล์ จำกัด มหาชน เพื่อวิจัยและค้นคว้าสร้างนวัตกรรมจากกราฟีน โดยศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเป็นผู้ลงนามร่วมกับนายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) โดยมีนายวิเชียร จึงวิโรจน์ กรรมการบริหารและรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ดร.สกลทร นทีสวัสดิ์ ที่ปรึกษาคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จากัด (มหาชน) ศาสตราจารย์ (เกียรติคุณ) ดร.ถิรพัฒน์ วิลัยทอง ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ ดร.ขัติยา ไกรกาญจน์ คณะผู้ทำงานบริหารโครงการวิจัย “ปั้นดาว” และรองศาสตราจารย์ ดร.เชรษฐา รัตนพันธ์ หัวหน้าโครงการวิจัย เข้าร่วมพิธีดังกล่าวเพื่อเป็นสักขีพยานสำหรับนาทีสำคัญของวงการฟิสิกส์ไทย

การถ่ายทอดเทคโนโลยี “เครื่องผลิตกราฟีนออกไซด์ระดับโรงงานอุตสาหกรรม” วัสดุแห่งอนาคตที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และการเชื่อมโยงองค์ความรู้สู่การขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ (New S-Curve) หลัง รองศาสตราจารย์ ดร.เชรษฐา รัตนพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ พร้อมคณะ ได้ทำการศึกษาวิจัยจนค้นพบศักยภาพในการผลิตกราฟีนออกไซด์ในไทย อันไปนำสู่การจัดตั้ง “โรงงานต้นแบบผลิตกราฟีนออกไซด์ระบบอัตโนมัติระดับอุตสาหกรรม” โรงงานขนาดเล็กนำร่องแห่งแรกในไทย ที่มีศักยภาพในการผลิตกราฟีนออกไซด์ที่เพียงพอต่อภาคอุตสาหกรรมในไทย 15 กิโลกรัมต่อเดือน โดยคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 60-100 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งมีราคาต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศถึง 50% ทั้งนี้ โรงงานต้นแบบดังกล่าว เป็นโครงการวิจัยที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ภายใต้โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลงานวิจัย เพื่อต่อยอดสู่งานภาคประชาสังคม (ปั้นดาว) ของกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในวงเงิน 6 ล้านบาท นอกจากนี้ หน่วยงานภายในอย่างคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และอธิการบดี สจล. ยังได้สนับสนุนอาคารตั้งโรงงานที่ภายในคณะ เพื่อให้โครงการดังกล่าวสามารถพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับสมบัติพิเศษของวัสดุอัจฉริยะ ‘กราฟีนออกไซด์’ ที่มีขนาดบาง เบา แข็งแรงทนทาน นำไฟฟ้า และความร้อนได้ดี ไม่เป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ อีกทั้งป้องกันการก่อตัวของแบคทีเรียได้อีกด้วย โดยสามารถนำมาผสมกับวัสดุต่างๆ ให้มีความแข็งแกร่งเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถรองรับงานผลิตในหลากกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ วัสดุดูดซับและกำจัดเชื้อโรค ในอุตสาหกรรมทางด้านการแพทย์ แผ่นเกราะป้องกันกระสุน ในอุตสาหกรรมด้านยุทโธปกรณ์ ซีเมนต์สมัยใหม่ รางรถไฟสมัยใหม่ ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญหนึ่งในการเข้าถึงวัสดุกราฟีนออกไซด์สำหรับอุตสาหกรรมไทย ที่จะมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมสมัยใหม่ต่างๆ ในยุคอุตสาหกรรมไทยแลนด์ 4.0 ยุครถยนต์ไฟฟ้า คือ งบลงทุนที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศสูงถึง 2-10 ล้านบาทต่อ 1 กิโลกรัม ซึ่งนับได้ว่าความสำเร็จจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่องค์กรธุรกิจในเชิงพาณิชย์ครั้งนี้ จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยนวัตกรรมได้อย่างยั่งยืน ตามที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ “การสร้างเครื่องผลิตกราฟีนออกไซด์และรีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ ระบบอัตโนมัติสำหรับอุตสาหกรรม”

แชร์เลย :