You are currently viewing รางวัลเหรียญ Dennis Gabor ประจำปี 2019

รางวัลเหรียญ Dennis Gabor ประจำปี 2019

รูปที่ 1 ศาสตราจารย์ Kai Bongs นอกจากเป็นผู้นำในองค์กรวิจัยด้านฟิสิกส์ควอนตัมหลายแห่ง ในปีพ.ศ. 2560 ยังได้รับเชิญให้เป็นหัวหน้าคณะบรรณาธิการของวารสาร EPJ Quantum Technology จนถึงปัจจุบัน (ที่มารูป: https://www.youtube.com/watch?v=dydCdrcwI4I)

ในบรรดารางวัลเหรียญต่างๆ กว่า 20 รางวัล เช่น รางวัลเหรียญ Isaac Newton,  รางวัลเหรียญ Michael Faraday, รางวัลเหรียญ Paul Dirac เป็นต้น ที่สถาบันฟิสิกส์แห่งสหราชอาณาจักร (Institute of Physics หรือ IOP) จะมอบให้แก่ผู้ที่ทำคุณประโยชน์ด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับฟิสิกส์เป็นประจำทุกปี รางวัลเหรียญ Dennis Gabor จะมอบให้แก่ผู้ที่มีส่วนอย่างสำคัญในการประยุกต์ใช้ฟิสิกส์เพื่อวงการธุรกิจและอุตสาหกรรม ในปีนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลได้รับการสดุดีว่า “มีส่วนอย่างสำคัญในการพัฒนาเซนเซอร์ควอนตัมและถ่ายโอนสู่การประยุกต์เชิงอุตสาหกรรม และยังได้ช่วยพัฒนาศูนย์กลางเทคโนโลยีควอนตัมแห่งสหราชอาณาจักรด้านเซนเซอร์และมาตรวิทยา (UK Quantum Technology Hub for Sensors and Metrology)” และบุคคลผู้นั้นคือ ศาสตราจารย์ Kai Bongs แห่ง University of Birmingham

ศาสตราจารย์ Bongs เรียนจบปริญญาเอกจาก Institute of Quantum Optics แห่ง University of Hannover ประเทศเยอรมนีในปีพ.ศ. 2542 หลังจากนั้นได้ไปเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอกและผู้ช่วยวิจัยทั้งที่ University of Hannover, Yale University ในสหรัฐอเมริกา และ University of Hamburg ประเทศเยอรมนี ต่อมาในปีพ.ศ. 2550 ได้ไปรับตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ของอะตอมเย็น (cold atom physics) ที่วิทยาลัยฟิสิกส์และดาราศาสตร์ ของ University of Birmingham ที่นี่ท่านดำรงตำแหน่งหัวหน้ากลุ่ม “Quantum Matter” และเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัย Midlands Ultracold Atom Research Center (MUARC) ของมหาวิทยาลัย ท่านมีผลงานมากมายทั้งการเป็นวิทยากร และตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารที่มีค่า impact factor สูง ซึ่งมีมากกว่า 125 เรื่อง ที่ถูกนำไปอ้างอิงมากกว่า 7,000 ครั้ง ต่อมาในปีพ.ศ. 2557 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการของศูนย์กลางหรือฮับเทคโนโลยีควอนตัมแห่งสหราชอาณาจักรด้านเซนเซอร์และมาตรวิทยา ที่เป็นกิจการ R&D ร่วม (consortium) ระหว่าง 12 มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร (เช่น University of Birmingham, University of Glasgow, University of Nottingham, University of Southampton, University of Sussex, University of Strathclyde เป็นต้น) ร่วมด้วย National Physical Laboratory (NPL), British Geological Survey (BGS) และ ภาคอุตสาหกรรมอีกกว่า 200 บริษัท โดยมีเป้าหมายในการผันวิทยาศาสตร์ไปสู่ตลาด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรมควอนตัม ปัจจุบันฮับนี้ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ภาคเอกชนแล้วกว่า 100 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 3 พันล้านบาท แนวทาง R&D ที่ฮับนี้โฟกัสคือ

  • การพัฒนากราวิมิเตอร์เชิงควอนตัม
  • การพัฒนานาฬิกาอะตอมแบบพกพา
  • การพัฒนาแม็กนิโตมิเตอร์ฐานควอนตัม

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงมหาวิทยาลัย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (Chris Skidmore) ประกาศสนับสนุนงบเพิ่มเติมให้ฮับของศาสตราจารย์ Bongs อีก 23.5 ล้านปอนด์ (ประมาณ 9 ร้อยล้านบาท) พร้อมกับได้กล่าวว่า “การรู้จักใช้งานเทคโนโลยีอุบัติใหม่ให้เต็มศักยภาพเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะเรามุ่งมั่นที่จะบรรลุยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมที่ทะเยอทะยาน คือ การเป็นประเทศเศรษฐกิจนวัตกรรมเข้มข้นที่สุดในโลก ขณะนี้มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกของเราหลายแห่งกำลังบุกเบิกพัฒนาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีควอนตัมเพื่อก่อเกิดผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ที่น่าสนใจกับธุรกิจของประเทศ ผมจึงมีความยินดีที่จะให้การสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมแก่ฮับเทคโนโลยีควอนตัม ซึ่งจะนำนักวิชาการและนวัตกรมาทำงานร่วมกัน เพื่อทำให้เทคโนโลยีแห่งอนาคตนี้มีประโยชน์กับชีวิตประจำวันของพวกเรา”

  

รูปที่ 2 โลโก้ของ UK National Quantum Technologies Programme และ ฮับเทคโนโลยีควอนตัมแห่งสหราชอาณาจักรด้านเซนเซอร์และมาตรวิทยา (ที่มารูป: https://www.photon-force.com/the-national-quantum-technologies-showcase-2018/ และ https://www.quantumsensors.org/)

ฮับเทคโนโลยีควอนตัมแห่งสหราชอาณาจักรที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2557 เป็นโครงการภายใต้ร่มเงาของโปรแกรม UK National Quantum Technologies Programme ที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรดำริขึ้นในปีพ.ศ. 2556 ซึ่งมีเป้าหมายจัดเตรียมฐานรากเพื่อการบรรลุผลสำเร็จในการถ่ายโอนวิทยาการควอนตัมไปสู่การประยุกต์ในเทคโนโลยีกระแสหลักเพื่อผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจของประเทศ โดยในระยะที่ 1 ของโปรแกรม (พ.ศ. 2557-2562) รัฐบาลจัดเตรียมงบประมาณไว้ให้ 270 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท) ส่วนหนึ่งคือ 120.5 ล้านปอนด์ (ประมาณ 4.7 พันล้านบาท) ใช้ลงทุนจัดตั้ง 4 ฮับเทคโนโลยีควอนตัม ดังต่อไปนี้

  • UK National Quantum Technology Hub in Sensors and Metrology มี University of Birmingham ของศาสตราจารย์ Bongs เป็นแกนนำ โดยมีงบประมาณสนับสนุนเริ่มต้น 35.5 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1.4 พันล้านบาท)
  • UK National Quantum Technology Hub in Quantum Imaging มี University of Glasgow เป็นแกนนำ โดยมีงบประมาณสนับสนุนเริ่มต้น 23 ล้านปอนด์ (ประมาณ 8.9 ร้อยล้านบาท)
  • UK National Quantum Technology Hub in Quantum Computing and Simulation มี Oxford University เป็นแกนนำ โดยมีงบประมาณสนับสนุนเริ่มต้น 38 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1.5 พันล้านบาท) และ
  • UK National Quantum Technology Hub in Quantum Communications มี University of York เป็นแกนนำ โดยมีงบประมาณสนับสนุนเริ่มต้น 24 ล้านปอนด์ (ประมาณ 9.3 ร้อยล้านบาท)

ปัจจุบันเริ่มอยู่ในระยะที่ 2 ของโปรแกรม (พ.ศ. 2562-2567) ซึ่งรัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณให้เป็นจำนวน 315 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท)

 

แชร์เลย :