You are currently viewing รู้กันหรือไม่ ? แสงซินโครตรอนสามารถนำมาช่วย พิสูจน์แหล่งที่มาของคราบน้ำมันที่มีการรั่วไหลสู่แหล่งธรรมชาติได้ด้วยนะ

รู้กันหรือไม่ ? แสงซินโครตรอนสามารถนำมาช่วย พิสูจน์แหล่งที่มาของคราบน้ำมันที่มีการรั่วไหลสู่แหล่งธรรมชาติได้ด้วยนะ

ในการวิเคราะห์อัตลักษณ์ของน้ำมันดิบที่ได้ดำเนินการทดสอบโดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) โดยการใช้เทคนิคการเรืองรังสีเอกซ์ (X-ray fluorescence, XRF) ที่ระบบลำเลียงแสงที่ 1.1W ซึ่งมี ดร.สุทธิพงษ์ วรรณไพบูลย์ เป็นหัวหน้าโครงการเพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบชนิดสารอนินทรีย์ โดยเฉพาะอัตราส่วนระหว่างธาตุนิกเกิลและธาตุวานาเดียม ในน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ที่มีความแตกต่างกันและเป็นเอกลักษณ์ จึงสามารถใช้เป็นข้อมูลในการบ่งชี้อัตลักษณ์ของน้ำมันดิบแต่ละชนิดได้ ถือเป็นหนึ่งในวิธีการทดสอบที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

การวิเคราะห์เชิงคุณภาพจากลักษณะของสเปกตรัมการเรืองรังสีเอกซ์ สามารถให้ผลการวัดซ้ำที่มีประสิทธิภาพสูงในตัวอย่างน้ำมันดิบชนิดเดียวกันจากการสุ่มวัดตัวอย่าง 3 ครั้ง และให้ผลสเปกตรัมการเรืองรังสีเอกซ์ที่จำเพาะแตกต่างกันไป ของตัวอย่างน้ำมันดิบแต่ละชนิด อีกทั้งยังให้ผลการทดลองเชิงปริมาณในการหาชนิดและอัตราส่วนของธาตุองค์ประกอบที่สนใจด้วยการหาปริมาณจากพื้นที่ใต้กราฟสัญญาณที่เป็นค่าจำเพาะกับธาตุองค์ประกอบแต่ละชนิด โดยสามารถใช้อัตราส่วนของปริมาณธาตุนิกเกิลและธาตุวาเนเดียม ในการจัดกลุ่มและจำแนกชนิดน้ำมันดิบ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการบ่งชี้อัตลักษณ์ของน้ำมันดิบแต่ละชนิดได้อีกด้วย

นอกจากนี้แล้ว เทคนิคการเรืองรังสีเอกซ์มีจุดเด่นสำคัญคือ สามารถทำการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำมันได้โดยตรงโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยกระบวนการเตรียมตัวอย่าง ทำให้สามารถทำการวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็ว และลดความคลาดเคลื่อน จากกระบวนการเตรียมตัวอย่างและผู้ทำการทดลองได้ และการใช้แสงซินโครตรอนที่มีความเข้มสูง ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจวัดธาตุองค์ประกอบที่มีปริมาณน้อยมากๆ ได้ดียิ่งขึ้น

ดังนั้นเพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการพิสูจน์แหล่งที่มาของคราบน้ำมัน ที่มีการรั่วไหลสู่แหล่งธรรมชาติ จึงได้มีการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่องการพัฒนาฐานข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมันดิบ และผลิตภัณฑ์น้ำมันที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 10 หน่วยงาน ได้แก่

1.กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

2.กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม

3.กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน

4.กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

5.กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง

6.ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.)ในส่วนของกองทัพเรือ

7.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี

8.บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

9.สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)

10.สมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน

ทั้งนี้ข้อมูลการวิเคราะห์อัตลักษณ์ของน้ำมันที่ได้ จะสามารถนำไปต่อยอดสู่การสร้างระบบฐานข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันที่เกี่ยวข้องเพื่อบ่งชี้อัตลักษณ์ของน้ำมัน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการวิเคราะห์แหล่งที่มาของคราบน้ำมันที่รั่วไหลในทะเลได้ในอนาคตต่อไป

แหล่งที่มา: สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) SLRI

แชร์เลย :