You are currently viewing วิสาหกิจชุมชนเพียวพลัสฟาร์ม เมื่อคนรุ่นใหม่ทำเกษตร เลี้ยงวัวด้วยเปลือกทุเรียน สร้างเนื้อวากิวพรีเมี่ยม A5 (ตอนที่ 1)

วิสาหกิจชุมชนเพียวพลัสฟาร์ม เมื่อคนรุ่นใหม่ทำเกษตร เลี้ยงวัวด้วยเปลือกทุเรียน สร้างเนื้อวากิวพรีเมี่ยม A5 (ตอนที่ 1)

วิสาหกิจชุมชนเพียวพลัสฟาร์ม เมื่อคนรุ่นใหม่ทำเกษตร เลี้ยงวัวด้วยเปลือกทุเรียน สร้างเนื้อวากิวพรีเมี่ยม A5 (ตอนที่ 1)

สวัสดีครับ สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน พบกันเป็นประจำในคอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย The challenge of smallscale farmers” กับผมธนากร เที่ยงน้อย ด้วยความที่ผมสอนวิชาส่งเสริมการเกษตรและวิชาธุรกิจการเกษตร เป็นวิชาหลักมาหลายปี การอ่านเพื่อเพิ่มพูนความรู้ชี้ให้เห็นข้อมูลที่ว่า เกษตรกรรายย่อยในประเทศของเรานับวันจะยิ่งอยู่อย่างยากลำบากหากไม่ปรับตัวเองในอนาคตเกษตรกรรายย่อยอาจจะล้มหายตายจากไปจนเกือบหมด เหลือเพียงเกษตรกรรายย่อยที่ปรับตัวในทุกวิถีทางเพื่อให้อยู่รอดในอาชีพเกษตร กับเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ก้าวเข้าสู่อาชีพเกษตรด้วยความรู้ ความพร้อมทุกๆ ด้าน ทั้งด้านทุน ความรู้ เทคโนโลยี ตลาด และปัจจัยอื่นๆ ฉบับนี้ผมมีความยินดีเป็นพิเศษที่จะพาท่านผู้อ่านไปพบกับเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ก้าวเข้ามาสู่อาชีพเกษตรด้วยความรู้และใช้ความรู้นั้นปรับอาชีพเกษตรให้มีความก้าวหน้าไปได้อย่างน่าชื่นชมไปดูกันครับ

วิสาหกิจชุมชนเพียวพลัสฟาร์ม

พาท่านมาที่วิสาหกิจชุมชนเพียวพลัสฟาร์ม ตำบลพระนอน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ดร.นิติพล พลสา ด๊อกเตอร์หนุ่มที่จบการศึกษาจากหลักสูตรวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา คนรุ่นใหม่ไฟแรงที่นำความรู้ด้านวิชาการมาประยุกต์ใช้ในงานการเกษตร และ คุณภูชิต มิ่งขวัญ บัณฑิตจากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกันดำเนินกิจการฟาร์มแห่งนี้ ดร.นิติพล เล่าว่า ฟาร์มของเราก่อตั้งมาได้ 2 ปีกว่าแล้วโดยจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อที่เราจะได้ทำประโยชน์ให้กับชุมชนของเรา ในการเป็นต้นแบบการเลี้ยงวัวเนื้อคุณภาพดี

จากความรู้และประสบการณ์จากการเรียนและการทำวิจัยทำให้ ดร.นิติพล พบว่า ปัญหาด้านการปศุสัตว์ของเกษตรกรไทยคือ การแบกรับภาระต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูง ดร.นิติพลจึงใช้เรื่องนี้มาเป็นโจทย์ตั้งต้นในการเริ่มกิจการเพียวพลัสฟาร์ม “ผมมองว่าในประเทศไทยมีเศษวัสดุทางการเกษตรมากมายแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เศษวัสดุพวกนี้ถ้าไม่มีการจัดการ เกษตรกรก็มักจะต้องเผาทิ้งซึ่งก็จะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ผมจึงอยากเอาเศษวัสดุเหล่านี้มาทำประโยชน์มาสร้างอาหารสัตว์เพื่อลดต้นทุนให้กับเกษตรกร จึงพยายามประยุกต์ความรู้ที่เรียนมาเพื่อให้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด”

ใช้จุลินทรีย์ปรับปรุงพันธุกรรมจากเทคโนโลยีพลาสมาพลังงานต่ำ

ผมขออนุญาตใช้พื้นที่อธิบายงานของ ดร.นิติพล กันสักหน่อยนะครับ เพื่อชี้ให้เห็นว่างานวิจัยทางวิทยาศาสตร์นั้นจะมีส่วนช่วยเกษตรกรอย่างไร ดร.นิติพล เล่าว่า “งานวิจัยที่ผมทำคือการปรับปรุงพันธุกรรมจุลินทรีย์จากเทคโนโลยีพลาสมาพลังงานต่ำ โดยจุลินทรีย์ที่ใช้ในการหมักเปลือกทุเรียนเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีตามธรรมชาติ คัดเลือกมาจากแหล่งอาหารและเป็นสายพันธุ์ที่ปลอดภัยต่อสัตว์ ต่อผู้ใช้ และต่อสิ่งแวดล้อม โดยจุลินทรีย์ที่ถูกคัดเลือกแล้วจะถูกปรับปรุงพันธุกรรมด้วยเทคนิคพลาสมาพลังงานต่ำ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้สูงขึ้นจากเดิม” (Sangwijit et al., 2016; Polsa et al., 2020) จุลินทรีย์ที่ได้จากการปรับปรุงพันธุกรรมจะถูกคัดเลือกโดยดูจากคุณสมบัติหลายด้าน

ดร.นิติพล เล่าว่า จุลินทรีย์ที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีพลาสมาพลังงานต่ำจะได้จุลินทรีย์ปลอดสารเคมี 100% จากนั้นจึงคัดเลือกจุลินทรีย์ที่มีลักษณะเด่น มีความสามารถย่อยสลายโครงสร้างพืชได้เร็วใช้เวลาเพียง 5-7 วัน และต้องเป็นจุลินทรีย์ที่มีความสามารถเพิ่มคุณค่าทางอาหารหรือโภชนะในของเหลือใช้ทางการเกษตรและสามารถยืดอายุการเก็บรักษาของเหลือใช้ทางการเกษตรได้นาน 6 เดือน

หมักเปลือกทุเรียนเป็นอาหารสัตว์

ดร.นิติพล เล่าต่อว่า ของเหลือใช้ทางการเกษตรในบ้านเรามีมากมายหลากหลาย อย่างเช่น ในพื้นที่นครสวรรค์จะมีต้นงาที่เหลือจากการตีเมล็ดออกแล้ว ซังข้าวโพด ใบอ้อย หรือเปลือกทุเรียน จากการวิจัยพบว่า ต้นงาหลังจากการตีแยกเมล็ดออกแล้วนำมาผ่านกระบวนการหมักแบบไร้อากาศด้วยกลุ่มจุลินทรีย์ปรับปรุงพันธุกรรมใช้เวลาการหมัก 14 วัน ใช้เป็นอาหารวัวขุน พบว่าวัวกินได้ดีสามารถทดแทนอาหารหยาบได้ โดยคุณค่าทางอาหารหรือโภชนะต้นงาหลังการตีแยกเมล็ดแล้วนำมาหมักมีโปรตีน 8.48% เยื่อใยหยาบ 13.12% ไขมัน 3.42% การนำต้นงามาหมักทำอาหารสัตว์ยังลดการเผาทำลายก่อนจะเริ่มทำไร่งารุ่นต่อไป

ในส่วนของเปลือกทุเรียนนั้นทางเพียวพลัสฟาร์มจะหาเก็บเปลือกทุเรียนจากตลาดทั่วทั้งจังหวัดนครสวรรค์ นำมาผ่านการล้างทำความสะอาด ผ่านเครื่องตีย่อยเปลือกให้แตกเป็นชิ้นเล็กลงแล้วนำไปหมักแบบไร้อากาศด้วยกลุ่มจุลินทรีย์ปรับปรุงพันธุกรรมใช้เวลาหมักเพียง 5 วันก็สามารถนำมาให้วัวกินได้ “ผลจากห้องปฏิบัติการพบว่า เปลือกทุเรียนที่ผ่านการหมักพบว่ามีโปรตีน 13% ที่ผ่านมาได้มีการทดลองใช้อาหารหมักนี้กับฟาร์มวัวนมในจังหวัดพะเยา พบว่าสามารถลดต้นทุนค่าอาหารได้มากถึง 40% และไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพนม นอกจากนั้น ยังได้ทำการวิจัยการใช้เปลือกทุเรียนหมักด้วยกลุ่มจุลินทรีย์ที่ปรับปรุงพันธุกรรมกับหมูพบว่า คุณภาพของซากโดยเฉพาะสีของเนื้อสัน (สีแดง) ให้ค่าสูงกว่ากลุ่มอื่น และเป็นอีกแนวทางที่ช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกร สามารถลดต้นทุนและได้กำไรมากถึง 29%” ดร.นิติพล อธิบายให้ฟัง

 

ผลิตอาหารสัตว์ต้นทุนต่ำเลี้ยงสัตว์ได้หลากหลาย

ดร.นิติพลและคุณภูชิต ได้พาเดินชมโรงงานที่ผลิตอาหารสัตว์จากการใช้จุลินทรีย์ปรับปรุงพันธุกรรม ซึ่งทางเพียวพลัสฟาร์มสามารถนำของเหลือใช้ทางการเกษตรในบ้านเราหลากหลายชนิดมาหมักเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ได้หลากหลายชนิด เช่น เปลือกทุเรียนที่ใช้เวลาหมัก 5 วัน สามารถเก็บเอาไว้ใช้เลี้ยงสัตว์ได้นานถึง 1 ปี สามารถนำไปใช้เลี้ยงวัวขุน วัวนม หรือนำเปลือกทุเรียนที่ผ่านการหมักแล้วไปผสมกับกากถั่วเหลืองที่เหลือจากการทำน้ำเต้าหู้ก็สามารถนำไปเลี้ยงหมูได้ดี ส่วนต้นงาที่หมักแล้วสามารถใช้เลี้ยงวัว แพะ แกะ เป็ด ไก่ ได้ผลดี หรือจะนำต้นงาที่หมักแล้วไปผสมเป็นอาหาร TMR (Total Mixed Ration หรืออาหารผสมสำเร็จรูปที่ผลิตขึ้นจากการนำอาหารหยาบและอาหารข้นมาผสมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม แล้วนำไปเลี้ยงวัวนม วัวเนื้อ แทนการเลี้ยงแบบเดิม) ก็ได้ นอกจากนั้น ยังมีการหมักเศษมันม่วง มันเหลือง เศษแอปเปิ้ล กากถั่วเหลืองหลังจากการทำน้ำเต้าหู้ ก็สามารถนำมาหมักเพื่อเอาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้อย่างดี

เพียวพลัสฟาร์ม เน้นมาตรฐานทำวิทยาศาสตร์ให้จับต้องได้

ดร.นิติพลและคุณภูชิต บอกว่า สิ่งที่เราทำอยู่ในเรื่องการผลิตอาหารสัตว์จากการใช้จุลินทรีย์ปรับปรุงพันธุกรรม เราพยายามทำให้เป็นวิทยาศาสตร์มากที่สุด เราทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ในเรื่องการใช้จุลินทรีย์ผลิตอาหารไก่เนื้อ เราทำวิจัยการใช้จุลินทรีย์ผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงหมูและวัวนม เราเน้นงานวิจัยวิทยาศาสตร์เพราะต้องการตอบโจทย์ทุกอย่างให้กับเกษตรกรได้ ทำให้เกษตรกรเห็นจับต้องได้แล้วมาร่วมมือกับเรา มาต่อยอดจากเรา เอาสูตรอาหารหมักของเราไปใช้เพื่อลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ มาร่วมมือเป็นผู้ผลิตในระดับต่างๆ กับเรา

ใครสนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ วิสาหกิจชุมชนเพียวพลัสฟาร์ม ฟาร์มโคพันธุ์ดีปากน้ำโพ คุณภูชิต โทร. 086-340-1828

เป็นอีกเรื่องราวดีๆ ที่ผมนำมาฝากกันครับ แต่ยังไม่จบเพียงเท่านี้ ในวิสาหกิจชุมชนเพียวพลัสฟาร์ม เมื่อคนรุ่นใหม่ทำเกษตร เลี้ยงวัวด้วยเปลือกทุเรียน สร้างเนื้อวากิวพรีเมี่ยม A5 ตอนที่ 2 ผมจะเล่าให้ฟังถึงกระบวนการสร้างเนื้อวัวคุณภาพของเพียวพลัสฟาร์ม ยังมีอะไรดีๆ ที่น่าสนใจจาก 2 หนุ่มแห่งเพียวพลัสฟาร์มอีกเยอะ พบกันในตอนที่ 2 ครับ คอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย The challenge of smallscale farmers” กับผมธนากร เที่ยงน้อย ฉบับนี้หมดพื้นที่แล้วต้องขอลากันไปก่อนแล้วพบกันใหม่ ขอให้โชคดี ไม่มีโรคกันทุกท่านทั่วหน้า สวัสดีครับ

 

เอกสารอ้างอิง

นิติพล พลสา กมล ฉวีวรรณ กันตา แสงวิจิตร สุกัญญา สืบแสน และ สมบูรณ์ อนันตลาโภชัย. 2564. ผลของการใช้เปลือกทุเรียนหมักจุลินทรีย์ที่ถูกปรับปรุงพันธุกรรมในอาหารต่อประสิทธิภาพการเจริญเติบโต และคุณภาพซากในสุกรระยะรุ่น-ขุน. แก่นเกษตร 49 ฉบับที่ 6: 1609-1617 (2564).

Polsa, N., W.Suyotha, S.Suebsan, S.Anuntalabhochai, and K.Sangwijit. 2020. Increasing xylanase Activity of Bacillus subtilis by atmospheric pressure plasma jet for biomass hydrolysis. 3 Biotech. 10: 1-9.

Sangwijit, K., J.Jitonnom, S.Pitakrattananukool, L. D. Yu, and S.Anuntalabhochai. 2016. Low-energy plasma immersion ion implantation modification of bacteria to enhance hydrolysis of biomass materials. Surface and Coatings Technology. 306: 336-340.

 

แหล่งที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน

ผู้เขียน : อาจารย์ธนากร เที่ยงน้อย

แชร์เลย :