โครงการวิจัย 2.1: เครื่องวัดความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลกแบบน้ำพุอะตอม

โครงการวิจัย 2.1: เครื่องวัดความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลกแบบน้ำพุอะตอม

โครงการวิจัยนี้จะทำการประยุกต์ใช้ผลิตผลจากโครงการจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิจัยทัศนศาสตร์เชิงอะตอมควอนตัม ที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ตั้งแต่ในระยะที่ 1 (พ.ศ.2551-2555) ไปสู่การพัฒนาเทคนิคอินเตอร์เฟียร์โรเมทรีแบบน้ำพุอะตอมโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครื่องวัดค่าความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงที่มีความละเอียดในเรือน 10-9 g ให้ได้ภายในกรอบระยะเวลา 3 ปี จากนั้นเครื่องวัดต้นแบบระดับห้องปฏิบัติการดังกล่าวจะได้รับการจัดวางโครงสร้างเชิงวิศวกรรมเพื่อเป็นอุปกรณ์วัดเคลื่อนย้ายได้แบบติดเครื่องบินที่สามารถทำการวัดแบบต่อเนื่องขณะบินภายในปีที่ 4-5 เครื่องวัดค่าความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงชนิดใหม่นี้จะเพิ่มศักยภาพการสำรวจแหล่งทรัพยากรน้ำมัน และแก๊สธรรมชาติ ในบริเวณพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก เช่น บึง และหุบเขาลึก และโดยเฉพาะแหล่งพื้นดินและชายฝั่งที่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันคิดว่าน้ำมันได้หมดไปแล้ว ความสะดวกและความละเอียดของการวัดที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับวิธีการเชิงธรณีวิทยาที่มีใช้ในขณะนี้ น่าจะสามารถลดความเสี่ยงของการขุดเจาะที่ล้มเหลว และลดต้นทุนลงไม่น้อยกว่า 10 เท่าตัวจากค่าใช้จ่ายในการสำรวจและขุดเจาะที่เสี่ยงและเป็นความท้าทายเชิงวิศวกรรมในบริเวณทะเลลึก

หัวหน้าโครงการ: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรานนท์ อนุกูล

หน่วยงานต้นสังกัด: ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แชร์เลย :