1. โครงการวิจัย“ฟิสิกส์นวัตกรรมด้วยวัสดุนาโนซิงค์ออกไซด์เพื่อการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร”

  1. โครงการวิจัย“ฟิสิกส์นวัตกรรมด้วยวัสดุนาโนซิงค์ออกไซด์เพื่อการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร”

ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของเกษตรกรก็คือโรคพืชต่างๆ ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตลดลง ครั้นเมื่อใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชเหล่านั้นก็จะกลายเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ยกตัวอย่างเช่นการทำนา จากการสำรวจพบว่าชาวนาใช้เงินต้นทุนในการทำนาต่อหนึ่งฤดูกาลประมาณ 3,500-4,000 บาท/ ไร่ โดยในจำนวนนี้เป็นค่าสารเคมีและปุ๋ยเคมีเสียประมาณ 880-1,200 บาท / ไร [1]  นั่นคือต้นทุนเกือบครึ่งหนึ่งไปอยู่ที่ค่าปุ๋ยและสารเคมีกำจัดโรคพืช การช่วยบรรเทาภาระของเกษตรกรในเรื่องนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยการสนับสนุนของศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ จึงได้นำวัสดุนาโนซิงค์ออกไซด์(ZnO) ซึ่งผลิตได้เองในประเทศ มีราคาถูก และมีคุณสมบัติน่าสนใจหลายประการ เช่นมีความเข้ากันได้ทางชีวภาพกับเซลล์มนุษย์ เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทางแสงที่ดีมาก เป็นสารประกอบเสถียรและปลอดจากสารพิษตกค้าง [2] ไปแนะนำให้เกษตรกรในหลายพื้นที่ทดลองใช้กับพืชหลายชนิด ได้พบว่าให้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจมาก เช่น

ข้าว: การฉีดพ่นวัสดุนาโนซิงค์ออกไซด์ผสมน้ำทุก 2 สัปดาห์ ทำให้ลำต้นข้าวสูงขึ้น และมีการแตกกอมากขึ้นเมื่อเทียบกับหมู่ต้นข้าวที่ไม่ได้มีการฉีดพ่นวัสดุนาโนซิงค์ออกไซด์

มะนาว: การฉีดพ่นด้วยสารดังกล่าวทำให้ต้นมะนาวต้านทานโรคแคงเกอร์ได้ดีขึ้น ต้นที่เป็นโรคนี้อยู่แล้ว ก็ไม่เป็นอีก ทำให้ได้ผลผลิตดีขึ้น [3]

มันสำปะหลัง: การแช่ท่อนพันธุ์ก่อนการเพาะปลูก และการฉีดพ่นเป็นประจำหลังการเพาะปลูก ทำให้ได้น้ำหนักมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น 40 – 60 % คือเพิ่มผลผลิตได้มากกว่า 2 เท่า

พริกไทย: โรคที่มักเกิดกับพริกไทยได้แก่ โรคเหลืองเน่าตาย, โรครากเน่า, โรครากขาว และโรคแอนแทรกโนส  ซึ่งจะทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต หรือแห้งตายไป ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรลดลง การใช้วัสดุนาโนซิงค์ออกไซด์ ตั้งแต่ระดับต้นกล้าทำให้ช่วยบรรเทาปัญหาเหล่านี้ได้

ฟักแม้ว: โรคที่พืชประเภทนี้มักเป็นบ่อยก็คือโรคราน้ำค้าง การฉีดพ่นด้วยวัสดุนาโนซิงค์ออกไซด์ทุก 10 -15 วัน แก้ปัญหาโรคราน้ำค้างได้

สละ: ปัจจุบันเกิดโรคเน่าและโรคเห็ดรากันมาก การฉีดพ่นด้วยวัสดุนาโนซิงค์ออกไซด์ช่วยลดการเกิดโรคทั้งสองได้ สละมีการติดผลมากขึ้นและผิวของผลมีสีแดงเด่น สวยน่ากินขึ้นอีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

[1] “ต้นทุนการปลูกข้าว; ผู้จัดการนายุคดิจิตอล กำไรที่แท้จริงของชาวนา”, (ที่มา http: thaipublica.org/2014/02/cost-of-farmer/)

[2] Jingzhe  Xue et al., “A Residue-free Green Synergistic Antifungal Nanotechnology for Pesticide Thiram by ZnO Nanoparticles”, Nature : Scientific Reports, 14 July 2014, DOI: 10.1038/srep05408.

[3] เพ็ญพิชญา เตียว, “นาโนซิงค์ออกไซด์หยุดโรคแคงเกอร์สวนมะนาว”, ไทยรัฐออนไลน์, 17 พค. 2556, (ที่มา www.thairath.co.th/content/345155.)

หัวหน้าโครงการ: ศาสตราจารย์ ดร.จิติ หนูแก้ว

นักวิจัยสมทบ: ผศ. ดร.ปิติพร  ถนอมงาม, ผศ. ดร.เบญจพล  ตันฮู้, ผศ. ดร.ทุติยาภรณ์  ทิวาวงศ์, ผศ. ดร.สุธี  ชุติไพจิตร, ดร.ศุภนิจ พรธีระภัทร, ดร.นวพันธ์  ขยันกิจ, ดร.อดิเรก  แรงกสิกรณ์

หน่วยงานต้นสังกัด: วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กรุงเทพฯ

แชร์เลย :